(เพิ่มเติม) "ประวิตร" เห็นชอบยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็คทรอนิกส์-เร่งแก้กม. แย้มใช้ ม.44 หากจำเป็น

ข่าวทั่วไป Wednesday June 20, 2018 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ว่า จะต้องหารือในหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กระทรวงมหาดไทย และ ตำรวจ และจะนัดประชุมกันอีกครั้ง ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็จะมีการชี้แจง

"ปัญหาที่เกิดขึ้นประเทศไทยสามารถรับมือได้ เพียงแค่ไม่ให้นำเข้าก็สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว แต่ต้องดูการแก้ไขกฎหมาย และดำเนินการตามกฎหมายทุกอย่าง"พล.อ.ประวิตร กล่าว

ด้านพล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 5/2561 ที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้หารือประเด็นเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก ที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ถูกต้อง จนมีผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน และสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ซึ่งประชุมได้มีข้อเสนอ ทั้งที่เป็นมาตรการเร่งด่วน และมาตรการทั่วไป

โดยในส่วนของมาตรการเร่งด่วน มี 3 ประเด็น คือ 1. เสนอให้ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็คทรอนิกส์ ของโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ตามพันธะกรณีของอนุสัญญาบาเซล ที่ไทยเข้าร่วม 2. กรณีสำแดงเท็จการนำเข้าขยะ ให้มีการพิจารณาผลักดันการนำกลับประเทศต้นทาง รวมถึงให้เร่งดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3. กรณีขยะอิเล็คทรอนิกส์ และเศษพลาสติก ที่นำเข้า และถูกส่งไปยังโรงงานกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือนำไปกำจัดให้ถูกต้อง และให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มความเข้มงวด ในการพิจารณาอนุญาตนำเข้าขยะ และกำหนดให้มีการวางเงินประกัน หากเกิดค่าเสียหายจากการสำแดงเท็จ หรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของการนำเข้า โดยกรมศุลกากร จะต้องเพิ่มความเข้มงวด ในการตวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่สำแดงเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ และกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานที่รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตามเงื่อนไขที่ขออนุญาต รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด และเพิ่มระบบการกำกับการขนส่งขยะจากท่าเรือไปโรงงาน พร้อมกันนี้ ยังมีการเสนอให้ยกเลิก การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการในที่ประชุมให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสากรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้พิจารณาเรื่องเร่งด่วนในการแก้ไขกฎหมายการห้ามนำเข้าขยะอิเล็คทรอนิกส์ โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และหากใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่ไม่ได้ ก็ให้คณะกรรมการเสนอใช้คำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44

พร้อมทั้งกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนเองให้มากขึ้น และทำด้วยความโปร่งใส ห้ามมีการรับสินบนโดยเด็ดขาด และถ้ามีความบกพร่องก็ถือว่าทุจริตในหน้าที่และสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาให้ถือเป็นบทเรียน ต้องไม่เกิดซ้ำซากอีก และต้องมีผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และย้ำให้ฝ่ายปกครองต้องกวดขันอุตสาหกรรมกำจัดขยะในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด

รวมทั้งให้ประสานกรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการสำรวจคุมเข้มมาตรการกำจัดของเสีย โดยเฉพาะสารพิษที่ปล่อยลงทั้งทางอากาศและทางน้ำ เช่น สารตะกั่ว สารปรอทและแคทเมียม และให้กรมศุลกากรตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะขยะอิเล็คทรอนิกส์ที่ไม่ได้สำแดงหรือสำแดงเท็จ

ปัจจุบันโรงงานคัดแยกขยะในประเทศไทย มีทั้งหมด 148 โรงงาน ดำเนินการไม่ถูกต้องตามวิธีการคัดแยกขยะ ถึงร้อยละ 90 และพบว่าโรงงานกำจัดขยะอิเล็คทรอนิกส์ มี 7 โรงงาน /ดำเนินการไม่ถูกต้อง 5 โรงงาน /ดำเนินการถูกต้องเพียง 2 โรงงาน ซึ่งทั้ง 7 โรงงาน เป็นของผู้ประกอบการชาวจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ