ม.ขอนแก่น จับมือ ส.อ.ท.-ภาคเอกชน ร่วมทำวิจัยพัฒนา"อะลูมิเนียมไอออนแบตเตอรี่"เล็งต่อยอดเชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Thursday June 21, 2018 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และภาคเอกชน เพื่อดำเนินโครงการวิจัยแบตเตอรี่ชนิดอะลูมิเนียมไอออนแบตเตอรี่ (Al-ion battery) คาดหลังงานวิจัยประสบผลสำเร็จจะสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์นำไปสู่ตลาดแบตเตอรี่ที่มีราคาถูก ไม่เกิดระเบิด ไม่ติดไฟ และมีความปลอดภัยสูง

"การประชุมครั้งนี้มีการเข้าไปหารือความเป็นไปได้ในการร่วมมือการทำวิจัยด้านแบตเตอรี่ฯ ชนิดดังกล่าวโดยภาคเอกชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการหารือในครั้งนี้เป็นอย่างมาก" นายศุภชัย กล่าว

ความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม พัฒนาบุคลากรทางด้านวัสดุเพื่อพลังงานที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ให้กับประเทศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศ ตลอดจนความร่วมมือในระดับนานาชาติ

นายศุภชัย กล่าวว่า แบตเตอรี่ชนิดอะลูมิเนียมไอออนแบตเตอรี่ (Al-ion battery) มีข้อดีหลายประการ เช่น ธาตุอะลูมิเนียมซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักมีจำนวนมากบนโลกและมีราคาที่ต่ำ ดังนั้นแบตเตอรี่ที่ผลิตได้จึงมีราคาถูก นอกจากนี้แล้วแบตเตอรี่ชนิดนี้มีความปลอดภัยสูงไม่เกิดการระเบิดและไม่ติดไฟ สามารถอัดประจุได้อย่างรวดเร็วในระดับไม่กี่วินาที มีความเสถียรสูงมากสามารถอัดและคายประจุได้มากกว่า 7,500 รอบ ให้กำลังไฟฟ้าสูงประมาณ 3,000 W/kg ซึ่งเทียบเท่ากับตัวเก็บประจุยิ่งยวด และยังสามารถให้ค่าความหนาแน่นพลังงานในระดับ40 Wh/kg (M. -C. Lin et al., 2015) ด้วยข้อดีทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ ทำให้แบตเตอรี่ชนิด Al-ion มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในอนาคตและเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ