นายกฯเผยการเคลื่อนย้าย"13หมูป่า"ออกจากถ้ำต้องรอบคอบ ก่อนทำการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

ข่าวทั่วไป Saturday July 7, 2018 09:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ เนื่องด้วยพระเมตตาธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสังฆราช และพระบารมีอันแผ่ไพศาลแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยอำนวยพรคุ้มครองภัย ให้เด็กและโค้ชทีมฟุตบอล "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" ทั้ง 13 คน ที่พลัดหลงในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ด้วยกำลังใจพลังแห่งความศรัทธาและการสวดภาวนาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องชาวไทย ช่วยเป็นแรงผลักดันเกื้อหนุนให้การปฏิบัติ "ภารกิจค้นหาผู้ประสบภัย" ในครั้งนี้ ยังคงเหลือขั้นตอนการเคลื่อนย้ายออกจากถ้ำให้ปลอดภัย รวมถึงการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติ ซึ่งยังต้องดำเนินการร่วมกันอย่างรอบคอบต่อไป ทั้งนี้ ทุกวิกฤต ย่อมแฝงไว้ด้วยโอกาสซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึง "พลังแห่งความรู้ รัก สามัคคี"อีกด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเฝ้าติดตามข่าวสาร จากสื่อทุกแขนง ในแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ควบคู่ไปกับการรายงานสถานการณ์และเป็นการรวบรวมกำลังใจ ส่งไปยัง13 ครอบครัว ของผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างมีระเบียบ แบบแผน และการเคารพกติกาทำให้การปฏิบัติการครั้งนี้ ถือว่าเป็นการบูรณาการกันในรูปแบบประชารัฐ ทั้งความร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการภาคประชาชนและจิตอาสาที่ทำงานประสานสอดคล้องกันภายใต้ "ศูนย์อำนวยการร่วม" ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ "ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย" ทำหน้าที่ ผู้บัญชาการเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องตลอดจนการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นไปตามแผนการปฏิบัติ ข้อห้ามหรือข้อบังคับที่กำหนด

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 4กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น ตรงกับวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีจึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทย ร่วมถวายพระพรชัยมงคล แด่ "เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์" ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ทั้งนี้พระองค์ทรงมีผลงานดีเด่นระดับโลก ในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งพระองค์ยังทรงได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งล่าสุดประสบความสำเร็จ ในการพัฒนายาชีววัตถุ ที่มีบทบาทสำคัญในการบำบัดรักษาโรคมะเร็งเต้านมซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เนื่องด้วยเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกที่ดำเนินการโดยนักวิจัยในประเทศไทย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งจากบางชนิดได้มีโอกาสได้รับการรักษาโดยมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง อีกทั้ง ช่วยให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านยาชีววัตถุได้

จากความสำเร็จดังกล่าวสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีความพร้อมที่จะขยายปริมาณการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยจะร่วมมือกับโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติโดยรวมได้พัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อีกทั้ง จะเป็นการพัฒนาศักยภาพและกำลังคนของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ "Thailand 4.0"ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำตอนท้ายของรายการว่า การยกระดับการให้บริการทางสุขภาพในอนาคตนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับ "รางวัลชนะเลิศ" จากการมอบรางวัล "United Nations Public Service Awards" ประจำปี 2561ซึ่งเป็นสาขาการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ในการให้บริการสาธารณะเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากผลงานเรื่อง "การป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการ"โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 8 ประเทศ ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจากทั้งหมด 437 ผลงาน ของ 79 ประเทศจากทั่วโลก ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะนำมาใช้ใน "การปฏิรูปด้านสุขภาพ" ของประเทศ และ"เป็นตัวอย่างที่ดี"ในการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนงาน บริการทางสุขภาพให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมระดับนานาชาติต่อไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ