รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง–แม่งัด เตรียมตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเร่งรัดให้ทันตามกำหนด

ข่าวทั่วไป Friday July 20, 2018 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา บริเวณอุโมงค์ส่งน้ำเข้า - ออก หมายเลข 2 ช่วงลำน้ำแม่แตง - เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ตามที่ได้มีนโยบายให้กรมชลประทานดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง นั้น ปัจจุบันภาพรวมของการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมากกว่าร้อยละ 24

"สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเข้า - ออก หมายเลข 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำระยะที่ 2 ช่วงลำน้ำแม่แตง (ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน) - เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ให้เจ้าหน้าที่ระดับรองอธิบดีหรือหัวหน้าสำนักงานฯ เป็นประธาน เพื่อติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานให้มีความก้าวหน้าอีกทางหนึ่ง รวมทั้งจะติดตามการดำเนินงานทุกระยะ 3 เดือน หากติดขัดปัญหาเรื่องใดจะได้เร่งคลี่คลายเพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วทันตามกำหนดเวลาในปี 2564" นายกฤษฎา กล่าว

นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ให้บูรณาการการทำงานและเชื่อมโยงข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรกับหน่วยงานอื่นๆ ในระดับจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานในระดับจังหวัดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือต่อองค์กรด้วย

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทั้ง 2 ระยะ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนด ในปี 2564 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ประมาณ 175,000 ไร่ ส่วนในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่

นอกจากนี้ ยังสามารถสนับสนุนการใช้น้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้อีกประมาณ 14,550 ไร่ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งกรมชลประทาน ได้นำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้า เพื่อบรรเทาอุทกภัยและลดความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ