นายกฯ เดินหน้าเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ใน-นอกระบบอย่างจริงจัง หวังปลดภาระให้ประชาชน

ข่าวทั่วไป Saturday July 21, 2018 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ว่า แม้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จะดีขึ้น แต่ปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 นั้น ยังถือว่า "ทรงตัว" จากช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ตัวเลขสัดส่วนมูลค่าหนี้ครัวเรือน เมื่อเทียบกับGDPหรือ "รายได้รวมของประเทศ" จะลดมาเพียงเล็กน้อย จากร้อยละ 78 เหลือร้อยละ 77.6 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของพี่น้องประชาชนนั้น ยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะสัดส่วนหนี้เสียยังไม่ปรับตัวลดลง ภาครัฐเองก็มีความห่วงใย เพราะถือเป็นภาระในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ติดตามประเด็นนี้ อย่างใกล้ชิด และได้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มที่เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินและ หนี้นอกระบบ ที่เป็นภาระและส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก การแก้ไขปัญหา "หนี้นอกระบบ" รัฐบาลและ คสช. ได้เร่งดำเนินการอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดสร้างกลไกการทำงานแบบบูรณาการ ของ กอ.รมน. - ตำรวจ - ทหาร และส่วนราชการในพื้นที่ลงไปเพื่อจะลงไปช่วยแก้ไขปัญหา ให้ตรงจุดมากขึ้น เพื่อจะให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ที่ผ่านมาก็มีสถิติจำนวนนายทุนปล่อยหนี้เงินกู้นอกระบบ ทั้งสิ้น 15,000 กว่าราย มีลูกหนี้รวม มากกว่า 350,000 ราย คิดมูลค่าหนี้ทั้งหมดเกินกว่า 21,000 ล้านบาท การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เราจะต้องเริ่มจากการจำแนกสภาพหนี้ เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย หรือทำการประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างของหนี้ และการชำระหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาชำระให้ยาวนานออกไป หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยยึดหลักการว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ หากลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทางทีมงาน ก็จะประสานขอสินเชื่อจากภาครัฐให้ ในขณะที่เจ้าหนี้ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการสร้างความเป็นธรรม จะใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ จากลูกหนี้นอกระบบทั้งหมดในฐานข้อมูลของภาครัฐ ประมาณ 350,000 ราย ได้รับการช่วยไกล่เกลี่ยไปแล้ว หรือทำข้อตกลงประนอมหนี้ไปแล้ว กว่า 55,000 ราย ที่เหลือก็จะได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ต่อเนื่องรายที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ก็มีการติดตามดูแล ไม่ให้กลับมาเป็นหนี้จนเกินตัวอีกดังนั้น ประชาชนที่ยังเป็นหนี้นอกระบบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องการความช่วยเหลือและยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็สามารถติดต่อ ณ ศูนย์ดำรงธรรม หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ได้ สำหรับด้าน "หนี้ในระบบ" ธนาคารปัจจุบันนั้น ภาครัฐมีโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย ที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิตบัตรกดเงินสด หรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน จนกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ภายใน 90 วัน และเป็นหนี้เสียอยู่กับธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ก็สามารถมาขอรับความช่วยเหลือในการประนอมหนี้ เพื่อดูแลปัญหาให้ได้ข้อยุติในคราวเดียวได้ รวมถึงเพื่อให้สามารถบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามความสามารถที่แท้จริง ควบคู่กับการได้รับความรู้ เสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการคลินิกแก้หนี้ เราจะไม่ทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้เพื่อนำไปชดใช้หนี้ที่ค้างชำระ แต่ให้ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระได้ตามกำลังของตนเอง โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เป็นหน่วยงานกลาง คิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 4 - 7% ต่อปี ด้วยระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้สูงสุด ไม่เกิน 10 ปี อีกทั้ง การให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อนำไปเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับตนเอง และไม่กลับมาอยู่ในวังวนปัญหาหนี้สินเหล่านี้อีกในอนาคต นอกจากโครงการคลินิกแก้หนี้ดังกล่าวที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้ของพี่น้องประชาชนทั่วไป รัฐบาลยังพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ของผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะอีกด้วย อาทิ หนี้ในกลุ่มครู ที่เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการปฏิรูปการศึกษา เพื่อจะลดความกังวล และภาระ ในการดำรงชีวิต ที่สามารถทำหน้าที่การเป็น "แม่พิมพ์" ที่ดีของเด็ก ๆ ได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ามีครูเป็นหนี้ ทั้งในและนอกระบบ และมีมูลค่าหนี้อยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นหนี้สิน ของโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่มีผู้กู้อยู่กว่า 5 แสนราย คิดเป็นเงินกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้เสีย มากกว่า 5,000 ล้านบาท

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระ ให้กับ "แม่พิมพ์ของชาติ" ที่มีหนี้ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการลดภาระหนี้ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยการให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 เพื่อนำไปชำระหนี้โครงการ ช.พ.ค. เดิม และเพื่อนำไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือน แต่ยังมีผู้มาร่วมโครงการไม่มากนัก นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ก็มีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ ที่มีปัญหาผ่อนชำระจนกลายเป็น "หนี้เสีย" สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ แล้วก็พักชำระ "เงินต้น" ไม่เกิน 3 ปี แต่ยังชำระ "ดอกเบี้ย" บางส่วน หรือเต็มจำนวน เพื่อให้สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ได้ให้ธนาคารออมสิน นำเงินสนับสนุนที่เคยได้รับจากโครงการ ช.พ.ค. ไปช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยดี ไม่มีหนี้ค้างชำระ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงจากเดิม ร้อยละ 0.5 - 1.0 คิดเป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ด้วย สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ และ มาตรการแก้ไขหนี้ต่าง ๆ ที่รัฐบาลนี้ ได้ริเริ่มขึ้นนั้น เป็นเพียงการพยายามแบ่งเบาภาระ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ "ปลายเหตุ" เท่านั้น ด้วยการช่วยเข้าไปผ่อนผันให้สามารถชำระหนี้ได้ตามความสามารถ โดยไม่ได้รับความเดือดร้อนจนเกินไป แต่ก็ยังคงเป็นภาระของพี่น้องประชาชนในการดำรงชีวิตอยู่ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ