ครม.สัญจร ไฟเขียวแก้กฎหมายอาคารให้มีที่จอดรถดับเพลิง-รองรับแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Tuesday July 24, 2018 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดอุบลราชธานี มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องจัดให้มีที่จอดรถดับเพลิง ที่จอดรถเพื่อการกู้ชีพฉุกเฉิน และกำหนดให้อาคารสูงต้องจัดให้มีลิฟต์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยพิบัติอย่างอื่นหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และให้มีอุปกรณ์การปฐมพยาบาลในการช่วยชีวิต ทั้งนี้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

เนื่องจากในปัจจุบันได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ รวมทั้งได้มีผลการศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับแผ่นดินไหวภายในประเทศที่ชัดเจนขึ้น ทำให้กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.50 มีข้อกำหนดไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวยังขาดข้อกำหนดตามมาตรา 8(3) และ (12) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพื้นที่อาคารบางประเภทซึ่งมีความเสี่ยง ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ