กรมป้องกันฯ รายงานหลายพื้นที่ 7 จ.ภาคอีสานยังน้ำท่วมหนัก พื้นที่เกษตรเสียหาย ประสานอีก 18 จ.เฝ้าระวังใกล้ชิด

ข่าวทั่วไป Thursday August 2, 2018 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำไหลหลากใน 7 จังหวัด 31 อำเภอ 140 ตำบล 919 หมู่บ้าน ประกอบด้วย นครพนม เกิดฝนตกหนักและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอปลาปาก อำเภอท่าอุเทน อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอธาตุพนม อำเภอบ้านแพง และอำเภอนาแก รวม 56 ตำบล 398 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 9 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 128,098 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

มุกดาหาร เกิดฝนตกหนักและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ ดงหลวง อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง รวม 43 ตำบล 318 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,754 ครัวเรือน 15,534 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 28,582 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

อำนาจเจริญ เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำในลำน้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอำนาญเจริญ อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน และอำเภอชานุมาน รวม 6 ตำบล 11 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 1,930 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

อุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขมราฐ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอโขงเจียม อำเภอนาตาล และอำเภอศรีเมืองใหม่ รวม 9 ตำบล 63 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,118 ครัวเรือน 2,964 คน อพยพ 43 ครัวเรือน 215 คน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

บึงกาฬ เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอศรีวิไล และอำเภอปากคาด รวม 6 ตำบล 26 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 2,107 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

สกลนคร เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสว่างแดนดิน และอำเภอโพนนาแก้ว รวม 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 48 ครัวเรือน 134 คน นาข้าว 240 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ร้อยเอ็ด เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ และอำเภอโพนทอง รวม 15 ตำบล 80 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,971 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 28,230 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่อง อุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

นอกจากนี้ กรมป้องกันฯ ได้ประสาน 18 จังหวัดพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แยกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอแม่ลาน้อย) เชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) ลำปาง (อำเภอแจ้ห่ม) น่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอท่าวังผา) ตาก (อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่สอด และอำเภออุ้มผาง) จันทบุรี (อำเภอเขาคิชฌกูฎ) ตราด (อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเขาสมิง) ระนอง (อำเภอกะเปอร์) พื้นที่เฝ้าระวัง 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ราชบุรี พังงา กระบี่ และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มอย่างใกล้ชิดในระยะนี้ โดยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีภูเขาสูงชัน พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ที่เคยเกิดมาก่อนแล้ว พร้อมติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนสะสม 24 ชั่วโมง หากฝนตกหนักถึงหนักมากและสถานการณ์รุนแรง ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว ยานพาหนะ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในระยะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ