ปภ.ประสานจังหวัดภาคเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ เตรียมพร้อมรับภัยธรรมชาติช่วง 8-9 ส.ค.

ข่าวทั่วไป Wednesday August 8, 2018 09:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกสะสมและคลื่นลมแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 8-9 ส.ค.61

โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง 24 ชม. พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดการเดินเรือทุกประเภทให้มีความปลอดภัย อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ จากการติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ปริมาณน้ำท่าเพิ่มสูงขึ้น และอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 8-9 ส.ค.61 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อีกทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้ทั่วทุกภาคมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักพื้นที่ โดยปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมแม่น้ำ และพื้นที่ลาดเชิงเขา นอกจากนี้ คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง และคลื่นสูง 2-3 เมตร

จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอุทกภัย 46 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง 13 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ขณะที่จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังคลื่นลมแรง 10 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และพังงา

ทั้งนี้ กอปภ.ก ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดเรือทุกประเภท ทั้งเรือเล็ก เรือประมง เรือท่องเที่ยว เรือข้ามฟาก และเรือเฟอร์รี่ ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังพร้อมตรวจสอบสภาพเรือให้มีความปลอดภัย และอุปกรณ์ชูชีพให้เพียงพอ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ