"ฉัตรชัย" สั่งศึกษาติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยน้ำหลากและศึกษาแนวทางพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายกตอนบน

ข่าวทั่วไป Wednesday August 15, 2018 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยน้ำหลากในพื้นที่ต้นน้ำ ในเขตอนุรักษ์ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ทันท่วงที และให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาแนวทางพัฒนาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายกตอนบน โดยเฉพาะในลำน้ำสาขาที่ยังไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เช่น คลองมะเดื่อ เพื่อเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป

"หากไม่มีเขื่อนขุนด่านปราการชล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปริมาณน้ำกว่า 20 ล้านลบ.ม. จะไหลลงสู่คลองท่าด่านมาสมทบกับปริมาณน้ำจากคลองวังตะไคร้ คลองมะเดื่อ คลองนางรอง และคลองสาริกา สถานการณ์น้ำป่าจะรุนแรง สร้างความเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำนครนายกตอนบนว่า หากจะให้เกิดความสมบูรณ์และเต็มศักยภาพในการพัฒนานั้น นอกจากจะต้องดำเนินโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ แล้ว จะต้องพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำสาขาของนครนายกตอนบนควบคู่ไปด้วย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและควบคุมน้ำร่วมกับเขื่อนขุนด่านปราการชลฯ ซึ่ง สทนช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ในพื้นที่จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ จากการรายงานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนขุนด่านปราการชล กรมชลประทาน พบว่า ก่อนที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลากในวันที่ 13 สิงหาคม 2561 เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 73% ของปริมาณความจุในระดับกักเก็บ หลังเกิดเหตุการณ์ทำให้มีปริมาณน้ำ ในวันรุ่งขึ้นเพิ่มสูงขึ้นเป็น 174 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 78% ของความจุ ส่วนปริมาณน้ำในเช้าวันนี้ (15 ส.ค.61 เวลา 06.00 น.) มีปริมาณน้ำ 183 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 12.05 ล้าน ลบ.ม. (ลดลงจากเมื่อวานประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 3.11 ล้าน ลบ.ม. (เท่าเมื่อวาน) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ และการระบายน้ำไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ