ครม.เห็นชอบร่างความตกลงตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้ BIMSTEC เตรียมลงนามในการประชุม 30-31 ส.ค.

ข่าวทั่วไป Tuesday August 28, 2018 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทย สำหรับการลงนามในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2561 ณ ประเทศเนปาล ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ

พร้อมกับอนุมัติให้ รมว.ต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้ วท. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับร่างความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้ BIMSTEC มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ โดยจะจัดตั้ง ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และประเทศสมาชิกจะแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารของศูนย์ฯ วาระ 3 ปี เพื่อร่วมกำหนดนโยบาย กลไก แผนงานและดำเนินการกับศูนย์ฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ระหว่างประเทศสมาชิก ใน 14 สาขา ได้แก่ 1.เทคโนโลยีชีวภาพ 2.นาโนเทคโนโลยี 3.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ 5.เทคโนโลยีการเกษตร 6.เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร 7.เทคโนโลยีเภสัชกรรม 8.ระบบอัตโนมัติ 9.เทคโนโลยีพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน 10.สมุทรศาสตร์ 11.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ 12.เทคโนโลยีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะมูลฝอย 13.เทคโนโลยีสุขภาพ และ 14. เทคโนโลยีลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ดังนี้

1. ประเทศไทยมีโอกาสร่วมกำหนดนโยบาย กลไก และแผนงานที่มีประสิทธิภาพในการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของประเทศได้

2. การสร้างโอกาสของประเทศไทยในการขยายเครือข่ายและเจรจาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ

3. การสร้างโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบาย แผนงานและรูปแบบการสนับสนุน และพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศสมาชิกในด้านการสรรหาเทคโนโลยี การประเมินผลเทคโนโลยี การประเมินตลาดและการจัดการสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิก

4. ผู้เชี่ยวชาญไทยมีโอกาสเข้าร่วมศึกษาทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น พืชผักผลไม้ พืชสมุนไพรในประเทศศรีลังกา อินเดีย ภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกเป้าหมายที่ไทยสนใจริเริ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ และต่อยอดองค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรสู่ตลาดโลก เป็นต้น

5. การบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อสร้างเครือข่ายฝ่ายไทยเข้าร่วมกิจกรรม โครงการภายใต้ศูนย์ฯ เพื่อมุ่งพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของบุคลากรไทยให้ยกระดับเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี

6. ผู้เชี่ยวชาญไทยสามารถเข้าร่วมบริหารงานของศูนย์ฯ ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวิชาการแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้

7. การรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในกรอบพหุภาคี BIMSTEC


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ