วสท. เปิดเวทีระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมน้ำ รับมือการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียทางศก.

ข่าวทั่วไป Wednesday August 29, 2018 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเวทีเสวนาเรื่อง "รัฐ กับการรับมือสถานการณ์น้ำ 2561" เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำ ปี 2561 ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ จากตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) สำนักบริหารจัดการและอุทกวิทยา, กรมชลประทาน, กองอุตุนิยมวิทยาการบิน และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐในงานจัดการน้ำท่วมและสนับสนุนงานด้านสาธารณภัยของประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ โดยแต่ละองค์กรมีข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกัน คสช. จึงได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 60 เพื่อเป็นศูนย์กลางเตรียมรับมือการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ โดยดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ นโยบายแผนแม่บท มาตรการในการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ และแนวทางแก้ไขเชิงบูรณาการ 12 ปี สร้างการรับรู้ข้อมูลกับคนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารน้ำ 20 ปี ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย โดยในงานเสวนาครั้งนี้ มีข้อเสนอให้ สทนช. เป็นแหล่ง Data Center ที่สามารถดูแลจัดการ เป็นศูนย์รวมข้อมูลและคัดกรอง โดยหากมีหน่วยงานใดที่จะบริหารจัดการน้ำ สทนช. เปิดกว้างให้ผู้ดำเนินการสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลน้ำนี้ได้

นายมนูญ อาระศิริ ประธานคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วสท. กล่าวว่า ปัญหาการจัดการน้ำ เป็นเพราะน้ำไม่อยู่ในที่ที่เราต้องการ โดยการจัดการน้ำที่สมบูรณ์นั้น น้ำต้องระบายออกและเก็บได้ตามที่เราต้องการ เพราะน้ำที่ไม่พึงประสงค์ยังอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการ ทำที่กักเก็บน้ำและเส้นทางระบายน้ำที่ทั่วถึง รวมถึงควรเพิ่มปริมาณพนังกั้นน้ำ ให้เพียงพอต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อยู่อาศัยท้ายเขื่อนได้รับความเดือดร้อน

ด้านนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารจัดการและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่าปริมาณน้ำฝนของปี 2560 กับ ปี 2561 ไม่ต่างกันมาก ขณะที่น้ำในอ่างทั้งหมดไม่วิกฤติมากยังรองรับน้ำได้ 20,088 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้ดำเนินการ เตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อทำเป็นพื้นที่ชะลอน้ำและเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยเตรียมพื้นที่ไว้ประมาณ 1.5 ล้านไร่ เก็บน้ำได้ประมาณ 2 ล้านล้าน เพื่อที่จะชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก รองรับน้ำที่จะไหลมาจากภาคเหนือเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ตั้งแต่ปทุมธานี อยุธยา กทม.คาดว่าจะรองรับน้ำช่วงฤดูฝนและพายุที่จะเกิดขึ้น 1-2 ลูก

นายสมภพ สุจริต คณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วสท. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีจุดบอดเนื่องจากไม่มีสถานีวัดน้ำฝน ทำให้การประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำเป็นไปได้ยาก จะรู้ตัวอีกครั้งเมื่อปริมาณน้ำมหาศาลแล้ว ดังนั้น ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยข้อมูลดังกล่าว ต้องเป็นฐานข้อมูลที่บ่งบอกสถานการณ์อย่างชัดเจน นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะให้มีการทดลองปล่อยน้ำให้เต็มลำน้ำ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการทดสอบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ระบบระบายน้ำจะทำงานได้เป็นปกติ และการคาดการณ์พื้นที่ที่ฝนจะตก เพื่อใช้ในการวิเคราะห์จัดการน้ำได้แม่นยำยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ