ครม.เห็นชอบมาตรการอำนวยความสะดวก-ลดภาระสำเนาเอกสารปชช.ในการติดต่อราชการ

ข่าวทั่วไป Tuesday October 2, 2018 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน (การไม่เรียกสำเนาเอกสารราชการที่ทางราชการออกให้จากประชาชน) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอ

สืบเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้ มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 21/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ข้อ 17 ที่กำหนดให้ในกรณีที่กฎหมาย กฎหรือระเบียบใดกำหนดให้ผู้ขอรับอนุมัติ อนุญาต หรือใบอนุญาต หรือผู้ยื่นขอจดทะเบียนหรือจดแจ้ง หรือผู้จดแจ้ง ต้องใช้เอกสารที่ทางราชการออกให้แก่ผู้นั้น เพื่อประกอบการพิจารณาหรือดำเนินการ ให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตออกใบอนุญาต รับจดทะเบียน รับจดแจ้ง หรือรับแจ้งนั้นที่จะตองดำเนินการให้หน่วยงานที่ออกเอกสารราชการเช่นว่านั้นส่งข้อมูลหรือสำเนาเอกสารดังกล่าวมาเพื่อประกอบการพิจารณาหรือดำเนินการ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจดังกล่าวประสงค์จะได้สำเนาเอกสารนั้นจากผู้ขอรับอนุมัติ อนุญาต หรือใบอนุญาต หรือผู้ยื่นขอจดทะเบียนหรือจดแจ้ง หรือผู้แจ้งให้ผู้มีอำนาจนั้นเป็นผู้จัดทำสำเนาเอกสารดังกล่าวเอง เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำสำเนาดังกล่าวจากผู้ขอรับอนุมัติ

แต่ที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนผ่านสำนักงาน ก.พ.ร.ว่ายังมีหน่วยงานที่เรียกให้ประชาชนต้องนำสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้มายื่นต่อทางการราช ซึ่งถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว

สำนักงาน ก.พ.ร.เห็นว่าการที่หน่วยงานของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. จะเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และยังมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาครัฐในภาพรวมด้วย ดังนั้นจึงเสนอมาตรการดังกล่าวให้ ครม.เห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐภายในฝ่ายบริหารทุกหน่วย ต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พ.ย.61 ดังนี้

1. กรณีที่หน่วยงานรัฐใดมีกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับที่กำหนดให้ประชาชนต้องยื่นหรือส่งสำเนาเอกสาร หรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐอื่นใดออกให้ ให้หน่วยงานของรัฐนั้นดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างหน่วยงาน เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการติดต่อราชการได้โดยเร็วที่สุด

2.เมื่อประชาชนไปติดต่อขอรับบริการ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเป็นผู้สั่งพิมพ์เอกสารหรือหลักฐานนั้น ออกมาจากระบบที่มีการเชื่อมโยงไว้ โดยให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ลงนามรับรองว่าได้พิมพ์เอกสารนั้นออกมาจากระบบที่เชื่อมโยงไว้จริง และให้ใช้เอกสารที่พิมพ์ออกมานั้นประกอบเรื่องที่ประชาชนมาขอรับบริการ ทั้งนี้ ประชาชนผู้มาขอรับบริการไม่ต้องเป็นผู้นำสำเนามาเอง และไม่ต้องลงนามรับรองความถูกต้องอของสำเนาเอกสารดังกล่าว

3.ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ดำเนินการและทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันให้แล้วเสร็จภายใน ต.ค.61 เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนได้พร้อมกันทุกหน่วยงานในวันที่ 5 พ.ย.61

4.การให้บริการที่เป็นตัวเงินแก่ประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด รวมทั้งการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม ค่าเช่าบ้าน และสวัสดิการอื่นๆ ที่เป็นตัวเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ ของหน่วยงานรัฐทั้งหมด ให้ดำเนินการผ่านระบบ National e-Payment ภายในวันที่ 5 พ.ย.61

5.ให้สำนักงาน ก.พ.ร.เปิดช่องทางการสื่อสารผ่าน Social Network เพื่อรับข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว และให้รายงานรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบ เพื่อนำไปใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานรัฐทุกหน่วยด้วย

ส่วนมาตรการระยะกลาง ต้องดำเนินการภายในปี 2562 มีดังนี้

1.ให้หน่วยงานพัฒนาระบบสารสนเทศ หรือแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการประชาชน เพื่อเชื่อมต่อกับ Linkage Center ของกรมการปกครอง ซึ่งในกรณีนี้หน่วยงานสามารถดึงข้อมูลของประชาชนจาก Linkage Center เพื่อกรอกลงในแบบคำร้องดิจิทัลของหน่วยงานได้โดยอัตโนมัติ 2.ให้หน่วยงานพิจารณาลดรายการเอกสารสำเนาต่างๆ ที่ประชาชนต้องใช้ประกอบการขอรับบริการ

ส่วนมาตรการระยะยาว ต้องดำเนินการภายในปี 2563 โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร.และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกันพัฒนาศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐให้ครอบคลุมรายการเอกสารที่ทำการเชื่อมโยงมากขึ้น ดังนี้

ด้านหน่วยงานภาครัฐ : สามารถเรียกดูและบันทึกเอกสารทางราชการระหว่างหน่วยงานได้ เพื่อใช้เป็นเอกสารหลักฐานการดำเนินการกับทางราชการ และสามารถให้บริการออนไลน์ได้

ด้านประชาชน : สามารถดูข้อมูลเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง และใช้บริการภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ