กทม.คาดร่างพ.ร.บ.ผังเมืองใหม่แล้วเสร็จปลายปี 62 กำหนดการจัดโซนนิ่ง-พื้นที่สีเขียว-โครงข่ายระบบขนส่ง

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2018 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง"ผังเมืองกรุงเทพฯและปริมณฑล ไร้รอยต่อ ชี้ทิศทางการพัฒนาเมือง" ว่า กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพมหานครใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปลายปี 62

โดยร่างพ.ร.บ.ผังเมืองกรุงเทพมหานครใหม่นี้จะรวมพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง 6 จังหวัดได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา โดยจะเป็นการปรับปรุงผังเมืองใหม่เพื่อให้ใช้พื้นที่ พร้อมกับการจัดโซนนิ่งที่อาจจะมีการผ่อนคลายให้ใช้พื้นที่ได้คุ้มค่า โดยอาจจะอนุญาตให้สร้างตึกสูงใกล้รถไฟฟ้าระยะทาง 750 -1.000 เมตรได้ จากปัจจุบันระยะห่างไม่เกิน 500 เมตร

ขณะเดียวกันในกรุงเทพมหานครจะมีศูนย์กลางขนส่งแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ที่บางซื่อ, มักกะสัน และ สะพานตากสิน(บริเวณคลองสาน) ที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบราง โดยจะมีระบบโลจิสติกส์เกิดขึ้นใหม่

"สิ่งที่จะเห็นในผังเมืองรวมใหม่นั้น ยังได้แก่ เรื่องการกำหนด FAR (มาตราการพื้นที่ อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) การโอนสิทธิ์แลกเปลี่ยนพื้นที่สีเขียว การกำหนดทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร ซึ่งในต่างประเทศมีให้เห็นแล้ว ซึ่งในกทม. เองต้องเป็นไปในทิศทางนั้น แต่ยังมีรายละเอียดและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และข้อกฏระเบียบต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผังเมืองใหม่จะต้องตอบโจทย์ เพื่อให้เป็นผังเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล "รองผู้ว่าราชการ กทม.กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 64 โครงการรถไฟฟ้าจะมีส่วนต่อขยายเพิ่มอีกประมาณ 360 กิโลเมตร(กม.) จากรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศุนย์วัฒนธรรม- มีนบุรี, สายสีชมพู (แคราย- มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว- สำโรง) จากปัจจุบันมี 102 กม. จะทำให้ภาพกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการเดินทางที่จะใช้ระบบรางมากขึ้น แต่ที่สำคัญต้องมีระบบรถสาธารณะเส้นทางรอง(Feeder) อย่างไรก็ตาม กทม.สนับสนุนการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครถือเป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง และการพาณิชย์ มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์มากถึง 5.7 ล้านคน โดยไม่นับรวมประชากรแฝงที่มีมากอีกเท่าตัว หรือรวมแล้วกว่า 11 ล้านคน จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อรองรับ โดยเฉพาะการออกแบบผังเมืองที่ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่กำลังเชื่อมต่อกันทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้ประชาชนรับประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบัน หากนับรวมประชากรทั้ง กทม.และปริมณฑล 6 จังหวัดข้างเคียง จะมีประชากรมากถึง 20 ล้านคน มาก 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ เทียบเท่ากับมหานครยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น โตเกียว นิวยอร์ก ที่ต่างมีผังเมืองรวมเมืองปลีกย่อย เพื่อกำหนดการพัฒนาเมือง และการใช้สอยทรัพยากรร่วมกัน

นายแสนยากร อุ่นมีคีรี รองผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพมหานคร จะมีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯทั้ง 50 เขตและจังหวัดใกล้เคียง จากนั้นนำส่งกรมโยธาธิการ กรมผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ก่อนเข้านำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และก.มหาดไทยลงราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะประกาศใช้ได้ประมาณปลายปี 62 แต่อาจจะติดการเลือกตั้งก็อาจเลื่อนไปต้นปี 63

"ผังเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 โจทย์คือระบบราง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับความหนาแน่นของประชากร เป็นไปตามระบบราง"นายแสนยากร กล่าวในงานสัมมนา"ผังเมืองใหม่ -เมกะโปรเจ็กต์: พลิกโฉมกทม."

นายฐาปนนา บุญยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวเสนอแนะว่า การปรับปรุงผังเมืองใหม่ ยังคงต้องสงวนพื้นที่ที่เขียว พื้นที่โล่ง ไว้ระบายน้ำ และกำหนดพื้นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์และให้มีความมั่งคั่ง แบ่งโซนสร้างศักยภาพเศรษฐกิจ และจะได้นำกลับมาในรูปภาษีส่งให้รัฐ การออกแบบการใช้ที่ดินเพื่อลดความจำเป็นในการเดินทาง การออกแบบโครงข่ายขนส่งมวลชนหลักและรองเพื่อลดความจำเป็นการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมทั้งออกแบบการเชื่อมต่อและการเช้าถึงระบบขนส่ง

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัญหากรุงเทพมหานครไม่ได้รับแก้ไขตั้งแต่ต้น ในหลายประเทศพัฒนาจะกำหนดผังเมืองซึ่งเป็นตัวชี้นำในการพัฒนาประเทศ ในการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า ขยายเมือง แต่กทม.เป็นผู้วางผังเมืองแต่ไม่สามารถบังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามให้เป็นไปตามผังเมืองๆได้ อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพราะแต่ละหน่วยงานมีงบประมาณเองอยู่แล้ว ดังนั้น ต่างคนต่างทำ ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มีความรู้เรื่องผังเมืองน้อยมาก ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ