นายกฯยินดีอันดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยดีขึ้น แต่ยังต้องปรับปรุงด้านการแข่งขันภายในประเทศ-ด้านการศึกษาและทักษะ

ข่าวทั่วไป Saturday October 27, 2018 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 ประจำปี 2018 ของ World Economic Forum ในปีนี้ ประเทศไทยมีอันดับและคะแนนดีขึ้น ถือว่าได้ก้าวเข้าสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น โดยปรับมาอยู่ในอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศทั่วโลก จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 40 เมื่อปีที่แล้ว สำหรับในอาเซียนนั้น ไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนในกลุ่มอาเซียน+3 ไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 12 ประเทศ รองจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และจีน ซึ่งก็เป็นอันดับคงที่มาหลายปี แสดงให้เห็นถึงสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวทีนี้ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ไม่ได้มีรายได้ต่อประชากรในระดับที่สูง แต่ยังสามารถเข้ามาอยู่ใน 40 อันดับแรกของโลกได้ ในขณะที่อีก 2 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อันดับที่ 25 และจีนอันดับที่ 28

คะแนนเหล่านี้เป็นผลมาจากเก็บข้อมูลเชิงลึก จากการสอบถามผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ และขนาดย่อมในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเทียบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ มีเกณฑ์การประเมิน 12 ด้าน 98 ตัวชี้วัด ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งด้านระบบการเงิน อยู่ในอันดับ 14 ของโลก เพราะมีความพร้อมด้านเงินทุน วงเงินสินเชื่อที่ให้กับเอกชน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ของ SMEs และสตาร์ทอัพ รวมถึงเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งด้านขนาดของตลาดอยู่ในอันดับ 18 ของโลก มาจากการที่บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้าถึงตลาดภายในประเทศ การลงทุน และการส่งออก หรือตลาดต่างประเทศได้สะดวก

อย่างไรก็ตามเราก็ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะก้าวสู่ความเป็น 4.0 ให้ได้มากขึ้น เช่น ด้านการแข่งขันภายในประเทศ ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 92 ของโลก สำหรับเรื่องของการแข่งขันภายในประเทศนั้น เราจะต้องเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ ได้มีการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม กฎระเบียบไม่ซับซ้อน ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีด้านการศึกษาและทักษะ ที่อยู่ในอันดับที่ 66 ของโลก เรายังต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศของเรามีความพร้อมและรู้เท่าทันโลกมากขึ้นด้วย

การสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ผ่านดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 นี้ เปรียบได้กับไม้บรรทัด ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจับตาดู เพราะนอกจากจะเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศแล้ว ยังสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นและประเด็นที่ต้องพิจารณาปรับปรุง รวมถึงศักยภาพในการที่จะให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการที่ผมได้ไปเข้าร่วมการประชุม ณ ต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ผมก็สัมผัสได้ว่าผู้นำหลายประเทศมีความเข้าใจ และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาของไทย โดยเฉพาะการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ เพื่อจะสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูป เพื่อพลิกโฉมเมืองไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และประชาชนอยู่ดีกินดีภายใน 20 ปีข้างหน้า ด้วยการมุ่งมั่นเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติอีกด้วย

นอกจากนี้ มีการประเมินผลหนึ่ง ที่กำลังอยู่ในความสนใจก็คือ เรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ธนาคารโลกได้พยายามจัดทำดัชนีชี้วัดภายใต้โครงการทุนมนุษย์ ที่เพิ่งริเริ่มขึ้น โดยพิจารณาวัดระดับของการสร้างทุนมนุษย์จากศักยภาพของเด็ก ที่ได้รับตั้งแต่เกิดจนจบชั้นมัธยม โดยดูจากอัตราการอยู่รอด โอกาสทางการศึกษา และผลการศึกษา รวมทั้งสุขภาพของเด็กเหล่านั้น ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำการวัดออกมาได้ผลที่เป็นตัวเลขที่ถูกต้องสมบูรณ์ ล่าสุด World Economic Forum ได้นำเสนอว่า สถาบันด้าน Health Metrics and Evaluation ที่สหรัฐอเมริกา ได้จัดทำวิธีคำนวณอย่างเป็นระบบขึ้น จากการวิเคราะห์ผลสำรวจ กว่า 2,500 ชุด และการลงพื้นที่สอบถามในเรื่องความเป็นอยู่ โอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ รวมถึงสุขภาพ แล้วนำมาประมวลผลให้ได้ค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงระดับทุนมนุษย์

วิธีนี้ได้ถูกนำมาใช้วัดระดับทุนมนุษย์ของ 195 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2533 และปี 2559 พบว่าประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป เช่น ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ และเดนมาร์ก แต่ส่วนที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ ประเทศที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็น"ทุนมนุษย์" ที่มีคุณภาพมากขึ้น สะท้อนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น กว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉลี่ย ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเทศ ก็คือ ตุรกี จีน บราซิล และไทย ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญอย่างมาก กับการพัฒนาคนของประเทศในช่วงที่ผ่านมา

อีกทั้งธนาคารโลก และ World Economic Forum ก็เห็นตรงกันว่า ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศนั้น เรื่องของคุณภาพคน หรือ "ทุนมนุษย์" มีความสำคัญมากกว่าทุนด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรหรือเงินทุน เพราะมนุษย์คือปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และสามารถจะพัฒนาเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด ด้วยต้นทุนที่ไม่ต้องสูงมาก เมื่อเทียบกับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในการผลิตแต่ละครั้ง ซึ่งนักวิจัยจากสถาบันด้าน Health Matric and Evaluation และธนาคารโลก ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุด ก็ได้ชื่นชมว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศรายได้ปานกลางแรก ๆ ที่มีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการให้บริการอย่างทั่วถึงของหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกหมอครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ ได้พัฒนาต่อมา ทั้งหมดนี้เป็นรากฐานที่ดีให้กับการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทย และการศึกษานี้ ยังชี้ด้วยว่าระดับของทุนมนุษย์จะเป็นส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศในระยะต่อไป

ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการต่อยอดบริการสาธารณสุขของประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและเตรียมพร้อม ในเรื่องทุนมนุษย์ของประเทศควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะให้เยาวชนมีทักษะและความสนใจ ในการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการขยายโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ไปสู่โรงเรียน มากกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ เพื่อฝึกฝนและพัฒนาความเป็น"นวัตกร" แก่เยาวชนไทย และ พัฒนาทักษะ STEM ในเด็กวัยเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ "เพลิน" หรือ Play and Learn ด้วย เพราะการศึกษาที่จะทำให้คนไทยอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21 นั้น ไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียนหรือในบทเรียนเท่านั้น เราต้องกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าและค้นพบด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้สามารถต่อยอดความคิดต่าง ๆ ได้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ