(เพิ่มเติม) นายกฯ จี้ทุกหน่วยเร่งแก้ปัญหาฝุ่นละออง กำชับให้มีมาตรการแก้ไขระยะสั้น-กลาง-ยาวอย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday January 29, 2019 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีข้อสั่งการต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไปประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ตลอดจนการหาแนวทางในการปฏิบัติเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองหรือควันเสียในอากาศ ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตามประเพณีมักจะมีการจุดธูป และเผากระดาษเงินกระดาษทอง โดยให้ไปพิจารณาว่าจะมีการรณรงค์ให้ช่วยลดการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวลงได้อย่างไรบ้าง เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน

อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะเป็นการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การแก้ปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนนั้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในทันที แต่ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไปบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงวิทยาศาสตร์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหา โดยมาตรการระยะเร่งด่วน จะเพิ่มการฉีดพ่นละอองน้ำจากบนตึกสูง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากตึกใบหยก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งวันนี้ได้มีการบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนในการช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งมีกฏหมายควบคุมอยู่แล้ว แต่อาจต้องมีมาตรการพิเศษในการขอความร่วมมือให้หยุดเดินเครื่องจักรในโรงงานในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาแนวทางจากต่างประเทศที่มีกฏหมายเฉพาะสำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยจะต้องนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมไทยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ