กทม.นัดถกปัญหาฝุ่นละออง เล็งให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจประกาศ"เขตรำคาญ"ใน 26 พื้นที่กรุงเทพฯ วางมาตรการเข้มข้น

ข่าวทั่วไป Wednesday January 30, 2019 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ขณะนี้พบว่าในเขตกรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยอยู่ในระดับ 80-90 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร รวม 26 เขตพื้นที่ และถือเป็นจุดเสี่ยงที่อาจจำเป็นต้องมีมาตรการเข้าไปควบคุมดูแลเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ คุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้าวันนี้ กทม.จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงแนวทางปฏิบัติ และการขอความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่าแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ที่จะต้องกลับไปดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ค่าฝุ่นละออง เกินระดับ 75 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร ซึ่งใน พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2560 ได้มีการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสามารถประกาศให้พื้นที่ที่มีปัญหาสภาพอากาศเป็น "เขตรำคาญ" ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่เริ่มมีผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้เพื่อจะได้มีการออกมาตรการเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง

"เรานัดประชุม 9 โมงครึ่ง จะคุยกันว่าแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างไร ขอความร่วมมืออย่างไร กลุ่มไหน กำกับดูแลอย่างไร เรื่องปริมาณจราจรถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องมานั่งจับเข่าคุยกัน วันนี้จะลง detail และจะมอบงานให้ผู้เกี่ยวข้อง ว่าหน่วยงานไหนต้องไปทำอะไรบ้าง" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวในรายการโทรทัศน์เช้านี้

ส่วนการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวานนี้ (29 ม.ค.) นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือกันในประเด็นของค่าฝุ่นละออง ซึ่งไทยใช้ค่ามาตรฐานที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร ซึ่งถ้าเกิน 50 จะถือว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และหากเกิน 90 หรือ 100 จะถือว่ามีผลกระทบอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงได้มีการหารือกันว่าจะกำหนดความเข้มข้นของมาตรการที่จะดูแลไว้ในแต่ละระดับ เช่น ถ้าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในช่วง 51-75 จะใช้มาตรการในการขอความร่วมมือ ว่าแต่ละฝ่ายจะมีการปฏิบัติอย่างไร แต่หากอยู่ในระดับ 76-100 จะขอให้ภาครัฐเข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง และหากสถานการณ์มีความต่อเนื่องกัน 3 วัน ก็อาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลที่เข้มข้นมากขึ้นอีก ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 4 ก.พ.นี้

"ไม่ใช่หมายความว่า ถ้าต่ำกว่า 75 รัฐจะไม่เข้าไปดูแล เราจะเข้าไปแนะนำ ไปเตือน เพราะสิ่งหนึ่งที่เราควรต้องรู้คือ ฝุ่นละออง PM 2.5 มีผลกระทบที่กว้างขวางในพื้นที่กรุงเทพฯ หลายพื้นที่ ดังนั้น 1.ประชาชนควรต้องรู้ว่าเราเองจะต้องดูแลร่างกายอย่างไร เราจะเข้าไปให้ความรู้ 2.มาตรการขอความร่วมมือ ว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง ในช่วงที่ 51-75 แต่ถ้าเกิน 75 ขึ้นไปที่มีมาตรการควบคุม ก็ต้องกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดและขอความร่วมมืออย่างจริงจัง" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับในเขตพื้นที่รำคาญ ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินกว่า 75 ไมโครกรัม/ลบ.เมตรนั้น คงจะได้มีการหารือร่วมกันในรายละเอียดว่าอาจจะต้องมีการควบคุมปริมาณรถยนต์ด้วยอีกทางหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งในการช่วยลดมลพิษทางอากาศ

"ต้องไปดูในรายละเอียด ว่าถ้าเกิดต่อเนื่องและรุนแรง เราอาจจะหยิบมาตรการทุกเรื่อง เช่น มาตรการพ่นหมอกน้ำ ละอองน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะ เพราะจะช่วยแก้ไขทั้ง PM 10 และ PM 2.5 บางส่วนได้ รวมทั้งถ้าเริ่มเกิดอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จะพิจารณาในแต่ละพื้นที่เพื่อกำกับดูแลปริมาณรถยนต์ว่าจะกำกับอย่างไร ต้องเรียกมาคุยกันว่าจะใช้วิธีไหน อย่างไรบ้างที่ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ" นายทวีศักดิ์ ระบุ

แท็ก PM 2.5  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ