(เพิ่มเติม) รัฐบาลวางแนวทางและมาตรการการเร่งด่วน-ปานกลาง-ระยะยาวแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 5, 2019 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเรื่องแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว

สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและพบค่าเกินมาตรฐาน โดยได้มีแนวทางการปฏิบัติ 3 ขั้น ประกอบด้วย ขั้นเตรียมการ (ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ : กันยายน - พฤศจิกายน) เป็นขั้นตอนการสร้างความเข้าใจ ให้แก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล โดยให้จังหวัดมีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมพร้อมเพื่อสั่งการ หากปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่มีปริมาณสูงขึ้น

ขั้นปฏิบัติการ (ช่วงเกิดสถานการณ์ : ธันวาคม - เมษายน) เป็นการปฏิบัติการช่วงเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินมาตรฐานซึ่งได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในขั้นปฏิบัติการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีตามการเคลื่อนไหวของสถานการณ์ฝุ่นละอองที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

โดยได้กำหนดระดับการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ส่วนราชการทุกหน่วยต้องดำเนินการตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามสภาวการณ์ปกติ เพื่อควบคุมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับปกติ

ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่ามากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยส่วนราชการอื่นๆ เป็นหน่วยสนับสนุนการดำเนินการโดยมาตรการในระดับนี้ ได้แก่ เพิ่มจุดตรวจจับควันดำเป็น 20 จุด, เริ่มจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง B20 ผ่านสถานีบริการน้ำมันในกรุงเทพฯและปริมณฑล, ปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B20 ในรถโดยสารดีเซล, ห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาด และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เป็นต้น

ระดับที่ 3 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากที่ได้มีการดำเนินการในระดับที่ 2 แล้ว ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละออง ใช้กฎหมายที่มีอยู่เข้าไปควบคุมพื้นที่หรือควบคุมแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือมีผลกระทบต่อประชาชนเพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ระดับที่ 4 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยจะต้องนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือมาตรการในการลดมลพิษ

ขั้นฟื้นฟูหลังจากสถานการณ์กลับสู่ปกติ กำหนดให้มีการประชุมเพื่อถอดบทเรียนหรือ After Action Review/AAR เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในปีต่อไป

ส่วนมาตรการระยะกลาง (พ.ศ. 2562 - 2564) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด อาทิ เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ, พิจารณาปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี, พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า, การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า, การซื้อ-ทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมือง เป็นต้น

ขณะที่มาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด เช่น การพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบและครอบคลุมพื้นที่, กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่า EU และ USA, กำหนดให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่ของโครงการหรือพื้นที่ครอบครองเป็นความผิดอาญา และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยสั่งการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อจัดการปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และให้จังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องมาร่วมมือแก้ไขปัญหา ซึ่งในส่วนของการตรวจสอบโรงงานต่างๆ ได้มีการสำรวจโรงงานไปแล้วกว่าแสนโรงงาน แต่มีโรงงานที่มีความเสี่ยงประมาณ 1,700 โรงงาน โดยได้สั่งการให้หยุดและปรับปรุงมาตรฐานประมาณ 600 กว่าโรงงาน

ทั้งนี้ ในอนาคตรัฐบาลได้เตรียมปรับมาตรฐานค่าฝุ่นละอองของไทยให้เหลือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันที่กำหนดอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่จำเป็นต้องมีมาตรการให้ช่วยลดค่าฝุ่นละอองที่เป็นรูปธรรม แต่เมื่อมีการประกาศค่าฝุ่นละอองขึ้น จึงทำให้สังคมตื่นตระหนกไปทั้งหมด แต่ความเป็นจริง ต้องการสร้างการรับรู้ของประชาชน และช่วยกันแก้ปัญหาด้วย โดยรัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังมีปัญหาเรื่องราคาแบตเตอรี่ที่ต้องพัฒนาต่อไปให้ราคาถูกลง เพื่อให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น

พร้อมระบุว่า ขออย่าตื่นตระหนกกัน และอย่านำเรื่องฝุ่นไปเป็นประเด็นการเมือง เรื่องนี้ไม่ได้โทษใคร เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหา แต่คิดว่ามันน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทุกคนเอาจริงเอาจังกันเหมือนทุกวันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ