กรมป้องกันฯ ประสาน 4 จังหวัดภาคเหนือแก้ PM2.5 เตรียมรับมือไฟป่าและหมอกควัน

ข่าวทั่วไป Wednesday February 20, 2019 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ พบว่า เมื่อเวลา 05.00 น.ที่ผ่านมา มีจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เกินค่ามาตรฐาน 100 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ (ตำบลช้างเผือก ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่) ลำพูน (ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน) พะเยา (ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา) ตาก (ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด) โดยมีค่า PM2.5 ระหว่าง 53-63 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM10 ระหว่าง 71-95 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 106-131 ซึ่งคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสาน 4 จังหวัดภาคเหนือเตรียมพร้อมป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่อง โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ เน้นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาพื้นที่เกษตรกรรม ให้กำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา ส่งเสริมการจัดทำแนวกันไฟ และรณรงค์การไถกลบแทนการเผา ส่วนพื้นที่ริมทางหลวง ให้เฝ้าระวังการเผาในเขตริมทางหลวงอย่างเข้มข้น อีกทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการระงับไฟป่า พร้อมประชาสัมพันธ์ผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย และข้อมูลคุณภาพอากาศ รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตนแก่ประชาชน ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน

สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุมให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เจ็บป่วยได้ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ