ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการจีโนมิกส์ประเทศไทย ปี 63-67 พร้อมงบประมาณ 4,570 ลบ.

ข่าวทั่วไป Tuesday March 26, 2019 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563 - 2567) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทำคำของบประมาณและจัดสรรงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนแผนภายใต้งบบูรณาการ รวม 4,570 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี

สำหรับแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563 - 2567) เป็นแผนที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่ง 30% ของโรคในมนุษย์เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจุบันการถอดรหัสพันธุกรรมมีต้นทุนลดลงอย่างมาก และมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น การตรวจเพื่อคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์ การตรวจพันธุกรรมเพื่อป้องกันมะเร็ง โรคไม่ติดต่อ โรคติดเชื้อ หรือการป้องกันการแพ้ยา

ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ มีเป้าหมายที่จะบูรณาการการใช้ข้อมูลพันธุกรรมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน ซี่งในอนาคต การแพทย์จีโนมิกส์จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชากร ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิต

ทั้งนี้ ในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health Economics) การลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค วินิจฉัยโรค และดูแลผู้ป่วยจะนำมาสู่การลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมาก โดย สธ. ประมาณการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากการให้บริการทางการแพทย์แบบจีโนมิกส์ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี (ประเมินจากการลดอัตราการเกิด 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อ HIV โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง) รวมทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและการให้บริการใน Medical Hub

นายณัฐพร กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สธ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และแพทยสภาแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือไปเมื่อวันที่ 16 มี.ค.61 เพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย ภายใต้คำสั่งคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีปลัดกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน โดยแผนปฏิบัติการบูณณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการด้านการวิจัยและประยุกต์ใช้ โดยกำหนดหัวข้อการวิจัยหลัก 5 หัวข้อ ได้แก่ 1. โรคมะเร็ง 2. โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและโรคหายาก และโรคที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์มารดาและทารก 3. โรคไม่ติดต่อและการศึกษาในกลุ่มประชากรแบบระยะยาว 4. โรคติดเชื้อ 5. เภสัชพันธุศาสตร์

2. ด้านการบริการ พัฒนามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการในระบบประกันสุขภาพของไทย ซึ่งรวมถึงการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติและการควบคุมดูแลชุดทดสอบให้มีมาตรฐาน

3. ด้านการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคำนวณและการจัดการข้อมูล ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากร ด้านชีวสารสนเทศ (Bioinfomaticians) การผลิตเครื่องมือทางชีวสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดจั้งศูนย์ข้อมูลประมวลผลเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการรักษาตามแนวทางของการแพทย์จีโนมิกส์

4. ด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคม เป็นการศึกษาและวางแผนการจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ เช่น ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การจัดการความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนา โดยเป็นการศึกษาทั้งในด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคม เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย กฎหมาย หรือแนวปฏิบัติต่อไป

5. ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากร พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์จีโนมิกส์จำนวน 794 คน ภายใน 5 ปี ประกอบด้วย 4 สาขา ดังนี้ 1. แพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ 34 คน 2. ผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ 110 คน 3. สหสาชาวิชาชีพด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาระดับโมเลกุลและพยาธิวิทยาระดับโมเลกุล 150 คน 4. นักชีวสารสนเทศ (Bioinfomaticians) และนักระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ 500 คน

6. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย การแพทย์จีโนมิกส์เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ (New S – Curves) ซึ่งมาตรการนี้การเป็นบูรณาการแนวโน้มความต้องการการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย สนับสนุนให้เกิดการลงทุนหรือร่วมลงทุนจากภาคเอกชนในการจัดทำห้องปฏิบัติการมาตรฐานนานาชาติ การส่งเสริมงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านการบริการด้วยระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์จีโนมิกส์

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม. ยังอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รวบรวมความต้องการพัฒนา Genomics Thailand เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนที่เหมาะสม ให้มีอุตสาหกรรมการแพทย์ เกิดการบริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในไทย โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูง และมีการเพิ่มตำแหน่งงานสำหรับคนไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ