สภาพัฒน์ เผย Q1/62 หนี้ครัวเรือนแนวโน้มสูงขึ้น หลังเร่งก่อหนี้ก่อนบังคับใช้ LTV จับตาคุณภาพสินเชื่อใกล้ชิด

ข่าวทั่วไป Thursday June 6, 2019 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกของปี 2562 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลจาก (1) การเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.62 ที่ผ่านมา (2) ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากคุณสมบัติของรถรุ่นใหม่ และมาตรการส่งเสริมการขายรถยนต์จากงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Show 2019) และ (3) การส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังคงทรงตัว แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในไตรมาสแรกของปี 2562 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยายตัว 9.0% เทียบกับ 9.1% ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.75% ต่อสินเชื่อรวม และสัดส่วน 27.8% ต่อ NPLs รวม ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 เป็นต้นมา และส่งผลให้มีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในประเภทธุรกิจอื่นๆ ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับยังคงมีมูลค่ารวมอยู่ในระดับสูง ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลง 3.6% เทียบกับการขยายตัว 0.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา

โดยหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่แล้วอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ทำให้มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) การก่อหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนภายหลังการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง และทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนประมาณ 49.9% ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และ (2) การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ รวมถึงบัตรเครดิตอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ (1) การออกแบบมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) (2) การออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากคุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง (3) การติดตามมาตรการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมและมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม (4) การเร่งประชาสัมพันธ์โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 และ (5) การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการก่อหนี้ครัวเรือนมากยิ่งขึ้น

ส่วนการจ้างงานช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.9% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตร 3.2% สาขาการก่อสร้าง 10.5% ตามการขยายตัวของพื้นที่ก่อสร้างและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ขณะที่สาขาอุตสาหกรรมจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.0% ชะลอตัวลงตามการผลิตที่เชื่อมโยงกับการส่งออก ส่วนสาขาโรงแรมและภัตตาคารมีการจ้างงานลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.2% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอลง และผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลง 4.2%

อัตราการว่างงานเท่ากับ 0.9% โดยเป็นการลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน 32.2% และ 18.7% ตามลำดับ ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% ขณะที่ผลิตภาพแรงงานโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นที่ 1.8% ตลาดแรงงานตึงตัวมากขึ้น โดยจำนวนสัดส่วนผู้สมัครงานใกล้เคียงกับจำนวนตำแหน่งงานว่างเป็น 0.98 เท่า ลดลงจาก 1.35 เท่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษาพบว่ามีความต้องการแรงงานในระดับประถมศึกษา และสายอาชีพสูงกว่าจำนวนผู้สมัครงานถึง 2 เท่า สะท้อนความขาดแคลนแรงงานทั้งจำนวนแรงงานและทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการ

ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งกระทบผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะได้ผลกระทบส่วนใหญ่เป็นสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ตโมเด็ม แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรพิมพ์ อุปกรณ์ส่งข้อมูลต่างๆ ชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานภาคการผลิตมากนัก เนื่องจากสาขาอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรเข้มข้น (Capital intensive) แต่ต้องเฝ้าระวังการจ้างงานในสาขาบริการท่องเที่ยว เนื่องจากลักษณะของการจ้างงานส่วนหนึ่งเป็นการจ้างงานชั่วคราวตามปริมาณการเข้าพักของนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจีนและสหรัฐฯ รวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ