กรมชลฯ เผย 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำยังน้อย-เฝ้าระวัง 18 อ่างฯขนาดใหญ่ปริมาณน้ำน้อยกว่า 30%

ข่าวทั่วไป Thursday July 18, 2019 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(18 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 8,293 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือ 33% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,597 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ถึงแม้จะเข้าฤดูฝนปี 2562 แล้วก็ตาม แต่ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบนของ 4 เขื่อนหลัก ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยตามไปด้วย โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 8 – 14 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันเพียง 37 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้วถึง 169 ล้าน ลบ.ม. (ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันที่ 8 – 14 ก.ค. 61 สะสมรวมกัน 206 ล้าน ลบ.ม.) ในขณะที่ ยังมีความจำเป็นต้องระบายน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (18 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ รวมกันประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. และมีการระบายน้ำรวมกันประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับเขื่อนภูมิพล ปัจจุบัน(18 ก.ค. 62)มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,710 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% น้อยกว่าปี 2561 ประมาณ 2,535 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 910 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในวันนี้ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ แต่ยังคงต้องระบายน้ำวันละประมาณ 23 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 8,700 ล้าน ลบ.ม. โดยในรอบสัปดาห์ (8- 14 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ สะสมเพียง 11 ล้าน ลบ.ม.

ด้านเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 3,388 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 ประมาณ 1,777 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 538 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันนี้ ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำประมาณวันละ 19 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 6,100 ล้าน ลบ.ม. ในรอบสัปดาห์ (8- 14 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯสะสมเพียง 22 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 147 ล้าน ลบ.ม. หรือ 16% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เป็นน้ำใช้การได้ 104 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในวันนี้ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ แต่ยังคงต้องระบายน้ำวันละประมาณ 2 ล้าน ลบ. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 800 ล้าน ลบ.ม. ในรอบสัปดาห์ (8- 14 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯสะสมเพียง 4 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 48 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 ประมาณ 139 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 45 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในวันนี้ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ แต่ยังคงต้องระบายน้ำ วันละประมาณ 0.7 ล้าน ลบ. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 900 ล้าน ลบ.ม. ในรอบสัปดาห์ (8- 14 ก.ค. 62) ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯแต่อย่างใด

นายทองเปลว กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำเก็บกักของ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำภูมิพลและอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึง การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนจึงให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักใช้น้ำชลประทานเสริมหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น และในเขตชลประทาน พื้นที่ดอนที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกข้าว ขอแนะนำให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณน้ำฝนสม่ำเสมอ

ด้านการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกแล้ว จะดำเนินการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง นอกจากนี้ ขอให้การสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นไปตามรอบเวรหมุนเวียนส่งน้ำในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้น้ำในทุกภาคส่วนทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูแล้งหน้า และขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จำนวน 447 แห่ง (ข้อมูล ณ 17 ก.ค.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 36,516 ล้านลบ.ม. (48% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 12,605 ล้าน ลบ.ม. (24% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 39,549 ล้าน ลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (น้อยกว่า 30%) จำนวน 18 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา กิ่วลม แควน้อยบำรุงแดน ห้วยหลวง น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำปาว ลำพระเพลิง มูลบน ลำนางรอง ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว ขุนด่านปราการชล คลองสียัด และนฤบดินทรจินดา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ