สพฉ.จับมือ กพท.ให้บริการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินนอกเขตสนามบินด้วยเฮลิคอปเตอร์

ข่าวทั่วไป Wednesday August 28, 2019 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามความร่วมมือการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS) ระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ว่า การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ส่วนมากอยู่ในภาคเอกชน ส่วนภาครัฐทำมากว่า 10 ปี ที่เรียกว่า "Thai Sky Doctor" หรือการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน เป็นการบูรณาการทำงานจากหลายภาคส่วน อาทิ สพฉ.เป็นผู้จัดให้มีระบบการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ กระทรวงสาธารณสุขมีส่วนสนับสนุนด้านบุคลากร ทีมการแพทย์ฉุกเฉินที่มีความเชี่ยวชาญกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ กระทรวงกลาโหมสนับสนุนอากาศยานจากทุกเหล่าทัพ และภาคเอกชนช่วยสนับสนุนภารกิจ

การลงนามความร่วมมือในวันนี้ สพฉ. และ กพท. ได้จัดทำข้อตกลง เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการช่วยเหลือหรือการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เรื่อง "การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์" และพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างกัน ภายใต้เจตนารมณ์ "คนไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสในการ รักษาอย่างดีที่สุด ทั่วถึง เท่าเทียม และได้มาตรฐาน

"ถ้ามีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ขออาสาขับเป็นคนแรก...ยินดีกับความร่วมมือที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการยกระดับการให้บริการประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว เวลาเกิดเหตุวิกฤต ประเทศไทยมีแผนรับมือแน่นอน การใช้เฮลิคอปเตอร์มีความรวดเร็ว ขณะที่อุปกรณ์ด้านในต้องมีความพร้อมในการช่วยเหลือชีวิตคน จะเพิ่มโอกาสรอดให้ผู้ป่วย ส่วนเรื่องงบดำเนินงาน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ มีงบอยู่แล้ว แต่หากมีปัญหา ขอให้แจ้งมา จะหาทางช่วยเหลือเต็มที่ ในส่วนของบุคลากรเชื่อว่า หากเป็นเรื่องช่วยชีวิต จะมีนักบินจิตอาสาเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก" นายอนุทิน กล่าว

ด้านเรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า จากสถิติการปฏิบัติงานพบว่า ผู้ที่รับบริการเป็นผู้ป่วยวิกฤติ อาทิ โรคทางสมอง ระบบหายใจ และอุบัติเหตุรุนแรง ซึ่งโรงพยาบาลในที่ห่างไกลหลายแห่งอาจไม่มีแพทย์เฉพาะ หากส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทางบกเพื่อไปโรงพยาบาลที่พร้อมกว่าอาจไม่ทันเวลา และเสียชีวิตกลางทาง หรือพิการ เช่น หากต้องใช้รถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ต้องใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง แต่หากใช้การลำเลียงทางอากาศยานจะใช้เวลาเพียง 30 นาที

ขณะที่นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มคุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ในการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ณ ที่ขึ้น-ลง นอกเขตสนามบิน และเพื่อให้การปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน มีตัวบ่งชี้ในการขอรับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ ที่ถูกต้อง มีการปฏิบัติการบินภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยสากล และที่สำคัญมีมาตรฐานบุคลากรและมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อผลประโยชน์ในการช่วยเหลือชีวิตของประชาชน เพื่อขจัดปัญหาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ