นายกฯ มอบนโยบายผู้ว่าฯ 17 จ.ภาคเหนือ เร่งหาพื้นที่กักเก็บน้ำ-ช่วยเหลือเยียวยาปชช.ที่รับผลกระทบน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Wednesday September 4, 2019 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยคณะ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการภาคเหนือ 17 จังหวัด หาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้กำชับเรื่องพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยให้หาแนวทางคุยกับเอกชนที่มีพื้นที่ เพื่อจัดทำทำพื้นที่กักเก็บน้ำในโครงการต่างๆเพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำยมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย หากโครงการใหญ่ดำเนินการได้ยาก ก็ต้องเร่งดำเนินการในโครงการเล็กไปก่อน เพื่อให้สามารถได้ประโยชน์ในภาพรวม พร้อมทั้งจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่าให้เกิดการระบายน้ำทิ้งอย่างเดียว แต่ต้องเอาน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ทางด้านพื้นที่การเกษตรด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือระยะสั้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การฝึกอาชีพหลังน้ำลด เพราะนอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำแล้วรัฐบาลต้องการให้ประชาชน ต้องดูในเรื่องของการประกอบอาชีพที่สามารถสร้างรายได้และเป็นที่ต้องการของตลาดไม่ว่าจะเป็นชนิดของพืชหรือการปศุสัตว์ ส่วนเรื่องงบประมาณโครงการไหนถ้ายังไม่มีงบประมาณรัฐบาลก็พยายามจะจัดหางบให้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาสำคัญของลำน้ำยม คือไม่สามารถสร้างเขื่อนใหญ่ได้ อย่างเช่นเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนั้นจึงต้องไปมองหาวิธีการสร้างเขื่อนเล็กๆแทน แต่ตอนนี้ต้องดูเรื่องของการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทรวงการคลังมีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว พร้อมขอย้ำว่าข้าราชการระดับจังหวัด จะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ส่งให้กลับรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวให้กับประชาชน ล่วงหน้าพร้อมจัดเตรียมการดูแลประชาชนรองรับด้วย

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่ามีการสูญเสียมาก โดยจังหวัดร้อยเอ็ดเสียชีวิต 4 คนขอนแก่น 3 คน นอกจากนี้ยังมีความเสียหายของอาคารบ้านเรือน จึงได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้กลไกที่มีแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ประชาชน ขณะเดียวกันประชาชนจะต้องไม่ประมาท

ในส่วนของความพร้อมได้สั่งทุกจังหวัดให้มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า มีการประสานงานที่ชัดเจน และเตรียมความพร้อมพายุลูกใหม่ที่อาจจะมีเข้ามาให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง และจะต้องมีการเตรียมความพร้อมไปยังพื้นที่แนวลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย และต้องประสานงานกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในการบริหารจัดการน้ำภาพรวมด้วย โดยเน้นความสำคัญตอนนี้คือการจูงน้ำไปเก็บไว้ในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในภายหลังฤดูน้ำแล้ง ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนเป็นรายจังหวัด

"ตอนนี้สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือการดูแลประชาชนอย่างทันท่วงที ในทุกด้าน จะต้องมีการประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ หากพื้นที่ไหนต้องมีการอพยพประชาชนต้องแจ้งอย่างรวดเร็วและให้การช่วยเหลือตามขั้นตอน ไม่ต้องห่วงและไม่ต้องกังวลที่จะถูกตำหนิ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถสั่งการด้านนโยบายได้ทันทีตามความเหมาะสม โดยสรุป คือต้องเข้าพื้นที่ โดยเร็วดำรงเส้นทางคมนาคม ดูการดำรงชีพของประชาชน"

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน เตรียมฟื้นฟูหลังน้ำลด ส่งความช่วยเหลือให้ประชาชนอย่างเร็วที่สุด ซึ่งจะต้องเร่งเข้าตรวจสอบข้อมูลความเสียหาย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเกษตรอำเภอ เกษตรตำบลทุกพื้นที่ ต้องเร่งสำรวจความเสียหาย และภายใน 1 สัปดาห์หลังน้ำลดจะต้องมีการรายงานข้อมูลเข้ามา พร้อมกับย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจูงน้ำมาใช้ประโยชน์ในภายหลัง และจะต้องพิจารณาแนวทางการเยียวยาที่เหมาะสม ขณะที่กรมประมงจะต้องจัดหาพันธุ์ปลาเลี้ยง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง ส่วนพืชไร่พืชสวน ที่ได้รับความเสียหาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดูเรื่องเมล็ดพันธุ์ การปลูกพืชทดแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ