กรมป้องกันฯ ประสาน 7 จังหวัดภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday September 9, 2019 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดย ปภ.ได้ติดตามข้อมูลปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า ปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ ประกอบกับสำนักงานชลประทานที่ 12 แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2562 เป็นต้นไป คาดการณ์ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะควบคุมในเกณฑ์ระหว่าง 900 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 0.30 – 0.80 เมตร บริเวณตำบลบางกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยปริมาณน้ำดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ กอปภ.ก.ได้ประสานพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี คลองชัยนาท – ป่าสัก และคลองชัยนาท - อยุธยา รวม 7 จังหวัด ดังนี้ อุทัยธานี (อำเภอเมืองอุทัยธานี) ลพบุรี (อำเภอบ้านหมี่ อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอเมืองลพบุรี) ชัยนาท (อำเภอสรรพยา) สิงห์บุรี (อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี) อ่างทอง (อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอป่าโมก อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอวิเศษชัยชาญ) พระนครศรีอยุธยา (อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา) สุพรรณบุรี (อำเภอบางปลาม้า) รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนหน่วยงาน บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหารริมน้ำ รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำให้ติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

สำหรับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน"โพดุล" และพายุโซนร้อน "คาจิกิ" ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 62 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 32 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ กระบี่ ปราจีนบุรี แพร่ นครพนม เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระนอง เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ น่าน ตราด มุกดาหาร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ชุมพร อุดรธานี สระแก้ว ลำปาง เลย สุโขทัย ศรีสะเกษ และสกลนคร รวม 175 อำเภอ 895 ตำบล 6,382 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 368,918 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 27 ราย (ยโสธร 8 ราย ร้อยเอ็ด 5 ราย อำนาจเจริญ 4 ราย ขอนแก่น 3 ราย พิจิตร 2 ราย อุบลราชธานี 1 ราย พิษณุโลก 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย สกลนคร 1 ราย น่าน 1 ราย) ผู้บาดเจ็บ 1 คน (ชัยภูมิ)

โดยขณะนี้คงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ อพยพประชาชน 16,231 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 25 จุด (อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ