ศาลปกครอง นำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการระงับข้อพิพาท

ข่าวทั่วไป Monday September 9, 2019 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยว่า ศาลปกครองพร้อมที่จะนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในคดีปกครองในศาลปกครองทุกศาลทั่วประเทศ เพื่อให้คู่กรณีที่พิพาทกันมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการระงับข้อพิพาท และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของคู่กรณีในการยุติข้อพิพาทระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นผลดีที่ทำให้คู่กรณีสามารถยุติข้อพิพาทที่มีต่อกันได้ด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว และถูกต้องตามกฎหมาย โดยคู่กรณีสามารถยื่นคำขอต่อศาล หรือศาลเห็นเองว่าคดีนั้นควรมีการไกล่เกลี่ย และทำการไกล่เกลี่ยได้โดยความสมัครใจของคู่กรณี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองนี้จะดำเนินการโดยตุลาการศาลปกครองซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยมีระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน และกระชับ

ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองจะเป็นกลไกที่สำคัญอีกกลไกหนึ่งและเป็นทางเลือกใหม่ของการระงับข้อพิพาททางปกครอง ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคู่กรณี และส่งเสริมการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานกรรมการยกร่างอนุบัญญัติและเตรียมความพร้อมศาลปกครองในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กล่าวว่า หลักการสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองนั้นตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า เป็นการยุติข้อพิพาทโดยบุคคลที่เป็นกลาง ไม่ได้ชี้นำหรือตัดสินข้อพิพาทนั้นเอง แต่มีบทบาทหน้าที่ในทางส่งเสริมให้คู่พิพาทสามารถเข้าใจความต้องการและข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย และยอมรับให้ข้อพิพาทยุติลงได้โดยความสมัครใจของคู่พิพาทเอง โดยการไกล่เกลี่ย

นายบุญอนันต์ กล่าวว่า ตามหลักการของกฎหมาย กำหนดให้ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง เป็นการดำเนินการโดยศาลชั้นเดียว และให้คดีพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นใดเป็นคดีที่อาจมีการไกล่เกลี่ยได้ในศาลชั้นนั้น หมายความว่า ศาลปกครองชั้นต้นก็มีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดก็มีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่ง "ฟ้องเป็นครั้งแรก" ต่อศาลปกครองสูงสุด อันหมายถึง คดีที่ไม่ใช่คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยเหตุผลที่ต้องกำหนดหลักการนี้ก็เพื่อให้ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถทำหน้าที่เป็นทางเลือกของการยุติข้อพิพาทได้อย่างแท้จริงและเหมาะสม

สำหรับลักษณะของคดีที่ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้นั้น กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดี (1) คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ (3) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และ (4) คดีพิพาทอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในอนาคตอาจมีคดีพิพาทประเภทอื่นๆ อีกที่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันได้

นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดกรณีที่มีลักษณะห้ามไม่ให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไว้ด้วย ซึ่งกรณีเหล่านั้นเป็นไปตามหลักทั่วไปของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีผลกระทบต่อสถานะของบุคคลหรือมีผลกระทบในทางเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการบังคับใช้กฎหมาย หรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือสิทธิ อำนาจหน้าที่ หรือความสามารถของคู่กรณี เป็นต้น

สำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นสามารถริเริ่มให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้นับแต่มีการฟ้องคดี จนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยอาจมีการริเริ่มได้โดยคู่กรณี คือ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นคำขอ หรือทั้งสองฝ่ายยื่นคำขอร่วมกัน หรือริเริ่มโดยศาลเห็นเอง ทั้งนี้ ระยะเวลาการดำเนินการไกล่เกลี่ยกำหนดให้มีความชัดเจน และกระชับ คือ ให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่ "วันนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแรก"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ