สภาพัฒน์ เผย Q3/62 การจ้างงานลดลง หนี้ครัวเรือนชะลอ แต่เฝ้าระวัง NPL หลังคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday November 25, 2019 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2562 ระบุว่า ผู้มีงานทำลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลง 1.8% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ และการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลง 2.3% ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการหดตัวของการส่งออก โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงได้แก่ สาขาการผลิต สาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการก่อสร้าง ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก

ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 3/62 เท่ากับ 1.04% หรือมีจำนวน 3.94 แสนคน สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และปัญหาภัยธรรมชาติ การว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 8.4% ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 3.0% ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน

สำหรับแนวโน้มการจ้างงานในไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฎผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก ชี้ให้เห็นจากตัวเลขจากการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรเดือนตุลาคม 2562 อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน แม้ว่ากำลังแรงงานและผู้มีงานทำจะลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่ามีการเคลื่อนย้ายออกจากกำลังแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ทำงานบ้านที่เข้าสู่กำลังแรงงานเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล โดยพบว่าผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1% ประกอบกับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่น ซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในระบบสามารถย้ายไปทำงานนอกระบบได้ง่าย โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม

สภาพัฒน์ มองว่าประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกับตลาดแรงงาน ได้แก่ 1.การติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และการติดตามตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งอำนวยความสะดวกและประสานจัดหางานให้กับแรงงาน เช่น การจัดตลาดนัดแรงงาน การประชาสัมพันธ์ช่องทางการสมัครงาน และแหล่งงาน

2. การดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อแรงงาน อาทิ การขอความร่วมมือสถานประกอบการใช้แนวทางชะลอการเลิกจ้างเป็นลำดับ เช่น การลดชั่วโมง/วันทำงานลง การหยุดการทำการชั่วคราวตามมาตรา 75 การสมัครใจลาออก โดยการเลิกจ้างควรเป็นแนวทางสุดท้าย

3. มาตรการในการเพิ่ม/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน ให้สามารถทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่ได้ โดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะ แรงงานกึ่งทักษะ ที่พบว่ามีการว่างงานเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในระยะยาวจากการปิดกิจการและย้ายฐานการผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดการหดตัวในความต้องการแรงงานกลุ่มไร้ทักษะและกึ่งทักษะ ประกอบกับการดึงดูดการลงทุนของไทยที่เน้นการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานทักษะมากขึ้น

ด้านสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเภท พบว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 7.8% ชะลอลงจากในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ชะลอลง 10.2% ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัว 11.8% เป็นผลจากการขยายตัวของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น

ทั้งนี้ ภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสาม ปี 2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.81% ต่อสินเชื่อรวม โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3.49% เพิ่มขึ้นจากในไตรมาสก่อน ด้านสินเชื่อรถยนต์สัดส่วน NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.86% และสัดส่วน NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.65% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่ NPL ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ สัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 2.36%

สำหรับแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมยังคงมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงตาม (1) สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงทรงตัวจากในช่วงครึ่งปีแรก จากความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มชะลอลง อุปทานส่วนเกินของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ และ (2) สินเชื่อรถยนต์ที่ชะลอตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ลดลง และสถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการสำคัญต่าง ๆ เพื่อติดตามและกำกับดูแลการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง อาทิ (1) การส่งเสริมความรู้ทางการเงินเชิงรุกแบบเน้นกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีวศึกษา กลุ่มวัยเริ่มทำงาน กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มเกษตรกร (2) การกำกับดูแลให้เกิดการเป็นหนี้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านผู้ก่อหนี้และผู้ปล่อยกู้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อหลายประเภท เช่น หลักเกณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หลักเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) การศึกษาการกำหนดมาตรฐานการคำนวณภาระหนี้รวมต่อรายได้ (DSR) และ (3) การช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการปรับโครงสร้างหนี้

ด้านสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาส 3 ปี 2562 พบว่าขยายตัว 3.1% โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัว 3.0% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัว 2.9% และยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้ (1) เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่า 0.5 ดีกรี จึงไม่เข้าข่ายการเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทำให้สามารถลงโฆษณาได้ทุกช่องทางโดยไม่ผิดกฎหมาย และ (2) อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังมีการลักลอบจำหน่ายจำนวนมาก แม้ประเทศไทยจะห้ามนำเข้าและจำหน่ายตั้งแต่ปลายปี 2557

ด้านคดีอาญาในไตรมาส 3 ปี 2562 เพิ่มขึ้น 27.7% เป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 32.8% คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น 6.6% ส่วนสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหายในไตรมาส 3 ปี 2562 พบว่า สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง 11.1% ผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลง 0.9% และ 2.1% ตามลำดับ โดยประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์มีสัดส่วนถึง 40.1% ของประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด สาเหตุของอุบัติเหตุอันดับแรกเกิดจากตัวบุคคล จากการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ