นายกฯ ประกาศวาระแห่งชาติแก้ภัยแล้ง-ครม.เห็นชอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจป้องกันและแก้วิกฤติน้ำ

ข่าวทั่วไป Tuesday January 7, 2020 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ โดยในส่วนของงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่ให้ สทนช.ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ทั้งนี้ หากไม่เพียงพอเห็นควรให้ สทนช.พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีหรือโอนงบประมาณรายจ่าย โอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร จากโครงการ/รายการที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ และมีงบประมาณเหลือจ่าย และ/หรือรายการที่หมดความจำเป็นแล้วแต่กรณี เพื่อมาสมทบในการดำเนินการตามแผนของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเป็นลำดับแรก

"นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้การแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ โดยสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้อยู่ในระดับ 2 และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ สทนช.จัดลำดับความพร้อมของโครงการต่างๆ เสนอมาให้อย่างเร่งด่วน" นางนฤมล กล่าว

นอกจากนี้ ให้ สทนช.ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม และให้ สทนช.รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สำหรับโครงสร้างขององค์กรภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและองค์ประกอบ ได้กำหนดตามระดับสาธารณภัยด้านน้ำที่เกิดขึ้น 3 ระดับ คือ 1. ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ดูแลปัญหาระดับ 1 ภาวะสถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรุนแรงในพื้นที่มากกว่า 10% ของระดับภาค

โดยมีหน้าที่ดังนี้ 1.อำนวยการ บริหารจัดการ รวบรวม บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ 2.ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแลสถานการณ์น้ำ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.วิเคราะห์สถานการณ์ รายงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แล้วแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) และหน่วยปฏิบัติ อื่น ๆ เพื่อรับทราบข้อวิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการ รวมทั้งแนวโน้มความรุนแรงเป็นการล่วงหน้า

2. กองอำนวยการเฉพาะกิจฯ ดูแลปัญหาระดับ 2 ภาวะรุนแรง (หรือคาดว่าจะรุนแรง) และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่า 30% ของระดับภาคและ/หรืออาจจะก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเสียหายในบริเวณกว้าง ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

โดยมีหน้าที่ดังนี้ 1. บริหารจัดการน้ำซึ่งอยู่ในเกณฑ์วิกฤติน้ำรุนแรงหรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง (ระดับ 2) 2. ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแลสถานการณ์น้ำ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำ เพื่อประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำต่อ บกปภ.ช. และสร้างการรับรู้ให้แก่สาธารณชน โดยอำนวยการและบูรณาการร่วมกับ บกปภ.ช. เพื่อพิจารณาระดับความรุนแรงสถานการณ์ภาวะวิกฤติน้ำ

3. ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจฯ ดูแลปัญหาระดับ 3 ภาวะวิกฤติ (หรือคาดว่าจะเกิดวิกฤติ) และคาดว่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่า 60% ของระดับภาค และ/หรืออาจจะก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเสียหายในบริเวณกว้าง ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

โดยมีหน้าที่ดังนี้ 1. ควบคุม สั่งการ บัญชาการ และอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราว จนกว่าปัญหาวิกฤติน้ำจะผ่านพ้นไป 2. ออกคำสั่งเพื่อการป้องกันแก้ไข ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา 3. บัญชาการร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยด้านทรัพยากรน้ำหรือวิกฤติน้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ