มท.1 กำชับ 9 จังหวัดภาคเหนือพร้อมสกัด PM2.5 สั่งปรับแผนเผชิญเหตุให้เหมาะแต่ละพื้นที่/ภัยแล้งลาม 20 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Tuesday January 28, 2020 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวและถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติเป็นต้องเร่งแก้ไข โดยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า พื้นที่ภาคเหนือมักประสบปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งกระทรวงฯ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระบบบัญชาการเหตุการณ์ภายใต้แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 เป็นกลไกหลักในการบูรณาการในมิติเชิงพื้นที่

ขณะเดียวกัน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา และเชียงราย ได้เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองอย่างเต็มกำลัง โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ พร้อมดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ตามแผนเผชิญเหตุของแต่ละพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เน้นมาตรการป้องกันและลดแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้งบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเผาอย่างเคร่งครัด ประกาศพื้นที่และห้วงเวลาห้ามเผา จัดทำแนวกันไฟ จัดชุดลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นจริงจังในการลดปริมาณและการกระจายของฝุ่นละอองในพื้นที่

"ได้กำชับให้ทุกจังหวัดปรับแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และขอความร่วมมือประชาชนในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ กับภาครัฐ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ไปแล้ว 20 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 109 อำเภอ 599 ตำบล 5,125 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ รวม 35 อำเภอ 166 ตำบล 1,200 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนครกาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์ รวม 44 อำเภอ 284 ตำบล 2,722 หมู่บ้าน ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา รวม 30 อำเภอ 149 ตำบล 1,203 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยระดมสรรพกำลัง เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงของพื้นที่ ทั้งการสูบส่งน้ำการขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อน้ำบาดาล การเป่าล้างบ่อบาดาล และจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ