ผู้เลี้ยงสุกรเชียร์แนวคิด"สมัคร"รณรงค์กินเนื้อสัตว์อื่นแก้ปัญหาหมูแพง

ข่าวทั่วไป Friday March 7, 2008 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูมีราคาแพงควรแก้ไขปัญหาอย่างนุ่มนวลด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่แนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมู
"ในหลายประเทศทั่วโลกล้วนประสบปัญหาราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น และได้มีการแก้ไขปัญหาราคาอย่างนุ่มนวล โดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เช่น จีน เวียดนาม เมื่อราคาเนื้อสัตว์ชนิดใดแพงขึ้นก็มีการรณรงค์บริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นทดแทน ทำให้ในเวลาต่อมาเนื้อสัตว์ที่แพงอยู่ก็จะมีราคาลดลงเองซึ่งเป็นไปตามกลไก นับเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" นายสุรชัย ระบุในเอกสารเผยแพร่
ก่อนหน้านี้ นายสมัครก็ได้เสนอแนะให้ประชาชนหันมาบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมูที่มีราคาแพงเป็นการชั่วคราว เพราะราคาเนื้อไก่อยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท ขณะที่ราคาเนื้อหมูอย่างต่ำกิโลกรัมละ 98 บาท เมื่อปริมาณความต้องการลดลงก็จะช่วยให้ราคาเนื้อหมูค่อยๆ ถูกลง
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ยังเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกการกำหนดเพดานราคาเนื้อหมูไว้ที่กิโลกรัมละ 98 บาท เนื่องจากเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งส่งผลให้ผู้เลี้ยงรายย่อยกว่า 5 หมื่นรายได้รับความเดือดร้อนเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก
"ธุรกิจเลี้ยงหมูเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ราคาหมูตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมามีขึ้นมีลงตามภาวะตลาด ยิ่งในช่วงนี้เกิดภาวะน้ำมันและต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูงผิดปกติจากการนำไปใช้ผลิตพลังงานทดแทนซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นการทำลายวงจรผลิต และยิ่งกดดันให้ผู้เลี้ยงต้องรับภาระสูงมาก" นายสุรชัย กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ กล่าวว่า วงจรชีวิตของผู้เลี้ยงต้องประสบปัญหาขาดทุนมากกว่ากำไร โดยเฉพาะช่วงกลางปี 2550 ที่ต้องขายเนื้อหมู 3 กิโลกรัมในราคาเพียง 100 บาท แต่การบริโภคกลับไม่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขาดทุนอย่างหนักมานานเกือบ 14 เดือน ซึ่งต้องแก้ปัญหากันเองด้วยการตัดตอนลูกหมูไปฆ่าทิ้งหลายแสนตัว
"ผู้เลี้ยงบางส่วนทนต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหวต้องเลิกเลี้ยงไป 20-30% ของผู้เลี้ยงทั้งหมด รายที่พออยู่ได้ก็ลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ปริมาณหมูขุนที่ออกสู่ตลาดลดลง ดังนั้นการขยับราคาขึ้นในช่วงนี้จึงเป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่การฉวยโอกาส" นายสุรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ