สธ.เผยผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 หายดีกลับบ้าน 1 ราย ยอดสะสมคงเดิม พร้อมแนะเลี่ยงนัดชุมนุมการเมืองหวั่นเพิ่มความเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Saturday February 22, 2020 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในไทย ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อรักษาหายและกลับบ้านได้เพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 24 ปี รักษาตัวโรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 138 กลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านแล้วรวม 20 ราย และยังคงมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 15 ราย รวมยอดสะสมยังคงเดิม 35 ราย โดยไม่มีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม

ขณะที่มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-21 ก.พ. ทั้งหมด 1,252 ราย แบ่งเป็นผู้ที่เข้ารับการรักษาเองในโรงพยาบาล 1,192 ราย และคัดกรองจากสนามบิน 60 ราย โดยอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 1,006 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 246 ราย

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกใน 30 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 ม.ค.-22 ก.พ. (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 77,286 ราย เสียชีวิต 2,252 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 75,903 ราย เสียชีวิต 2,237 ราย

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การที่พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้จำนวน 101 ราย ทำให้มียอดรวมเป็น 1,252 รายนั้น เพราะได้เพิ่มจำนวนประเทศเฝ้าระวังมากขึ้น และในวันนี้จะเพิ่มการปฎิบัติสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้อีก 1 ประเทศ และถ้าอิตาลีที่พบการแพร่ระบาดยังไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจะต้องเพิ่มการเฝ้าระวังกลุ่มคนที่เดินทางมาจากประเทศนี้ รวมถึงยังมีการเฝ้าระวังในพื้นที่ 8 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเอเชียค่อนข้างมาก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ และชลบุรี ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยได้โดยเร็ว และลดการแพร่เชื้อในประเทศ

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ ขณะนี้พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีจำนวนประเทศที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไทเป ยังมีประเทศเกาหลีใต้ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และล่าสุดคืออิตาลี โดยกำลังจับตามองประเทศที่กำลังเริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้มากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะเจอผู้ที่ติดเชื้อที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผู้ที่เดินทางไปประเทศเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะได้ติดเชื้อกลับมาด้วย ซึ่งคำแนะนำสำหรับผู้เดินทางขอให้ตรวจสอบการเดินทาง และการรายงานจำนวนผู้ป่วยในเมืองที่จะเดินทางไปมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากเป็นเมืองที่มีการแพร่ระบาดก็จะทำให้โอกาสการติดเชื้อมีเพิ่มขึ้น ดั้งนั้น จึงขอแนะนำให้เลื่อนการเดินทาง แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินทาง เพราะขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นห้ามการเดินทาง ก็ควรจะปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อให้เหมาะสม โดยไม่ไปสถานที่แออัด ถ้าไปในสถานที่ปิดแคบ แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และเมื่อกลับมาเมืองไทยก็จะมีการคัดกรองจากสนามบิน และให้คำแนะนำ พร้อมกับขอความร่วมมือหากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ให้แจ้งแพทย์ทันที และป้องกันบุคคลรอบข้างที่อาจจะติดเชื้อด้วย โดยขณะนี้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายทั้งห้ามการเดินทาง หรือนโยบายการกักกันแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่หลายหน่วยงานมีการออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานตนเดินทางไปประเทศที่พบการระบาดของโรคนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เป็นความห่วงใยแต่ละหน่วยงาน โดยกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ในสังกัดเดินทางไปต่างประเทศ แต่ขอให้พิจารณาชะลอหรือเลื่อนการเดินทางในช่วงนี้ไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากร

"ภาพรวมความเสี่ยงในประเทศ ยังอยู่ในระดับต่ำมาก โอกาสที่ท่านจะติดเชื้อจากการเดินไปเดินมาในประเทศยังถือว่าต่ำมากอยู่ อันนี้คือความเสี่ยงรายบุคคล แต่ความเสี่ยงของประเทศที่จะพบผู้ป่วยเริ่มเพิ่มขึ้น เหมือนกับหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ หรืออิตาลี ความเสี่ยงของประเทศยังต่ำ แต่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากแรงกดดันที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แล้วเราจะเจอว่ามีผู้เดินทางที่ติดเชื้อเข้าประเทศเพิ่มขึ้น และนั่นจะเป็นสาเหตุ สถานการณ์ตอนนี้เรายังคงดำเนินการเฝ้าระวัง และควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่ เพื่อที่ให้เราอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้" นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และคงไม่ฟื้นตัวในเร็ววัน เพราะจากประสบการณ์เห็นว่าการต่อสู้คงจะใช้เวลายาวนานพอสมควร ความคาดหวังจะจบเร็วใน 1-2 เดือนเป็นไปได้ยาก เพราะเริ่มมีประเทศที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้น และหากสถานการณ์ในอิตาลีไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะพบการแพร่ระบาดไปประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเพิ่มเติม ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ด้วยการปฏิบัติตัวไม่ไปสถานที่ที่มีคนแออัด และกลุ่มเสี่ยงแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย ตลอดจนล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงการกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง

ด้านวิธีการป้องกันรักษานั้น ในส่วนของใช้วัคซีนยังคงมีระยะเวลาอีกนาน แต่เบื้องต้นที่ติดตามข่าวพบว่าทางการจีน ได้ประกาศว่ามียาตัวหนึ่งที่มั่นใจว่าสามารถรักษาโรคได้และใช้เป็นมาตรฐานในการรักษา ซึ่งนับเป็นข่าวดีเพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีวิธีการที่จะจัดการกับโรคได้ และขณะนี้ไทยก็มีการนำเข้ายาตัวนี้มาแล้วจำนวนหนึ่งที่ไม่มากนัก ซึ่งเป็นการนำเข้ายามาก่อนที่จะรู้ว่าสามารถใช้ได้ผลกับจีน ซึ่งรมว.สาธาณสุข ก็ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรม ติดต่อกับบริษัทเพื่อนำยาตัวนี้เข้ามาในประเทศในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเพียงพอที่จะดูแลประชาชนในไทยต่อไป

สำหรับการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือ "โมโตจีพี 2020" ที่จ.บุรีรัมย์ ในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ รวมถึงการที่อาจมีนัดชุมนุมทางการเมืองในช่วงนี้นั้น มองว่าทั้งสองสถานการณ์นับเป็นการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างชัดเจน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสามารถบริหารจัดการควมเสี่ยงได้หรือไม่ ถ้าจัดการได้ดีก็จะลดความเสี่ยงได้ ดังนั้น ขอความร่วมมือผู้ที่จะเข้าร่วมงาน มีอาการคล้ายเป็นหวัด ต้องไม่ออกไป เด็ดขาด ขณะเดียวกันผู้จัดงานก็ต้องบริหารจัดการทุกวิธีในการคัดกรองผู้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบากให้ออกจากสถานที่บริเวณงาน

"ประเด็นซับซ้อนมากกว่า เรื่องการจัดงานโมโตจีพี ที่บุรีรัมย์ เวลาที่คนไปรวมตัวกันไม่ใช่แค่ไปงานอีเว้นท์ครั้งเดียวจบ คนก็จะเข้าไปอยู่จังหวัดบุรีรัมย์เพิ่มจำนวนมาก ตั้งแต่ก่อนงานเริ่ม และอาจจะไปในที่ต่าง ๆ สำหรับวันงานคำแนะนำต้องมีการคัดกรอง แจกหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยสำหรับคนทุนคนที่จะร่วมงาน และต้องมีแจกจ่ายเจลแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างทั่วถึง เป็นหลักการทั่วไป ต้องทำทั้งผู้ร่วมงาน และผู้ไปดู และผู้ที่ไปดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ต้องจัดการทั้งหมด...ส่วนการชุมนุมทางการเมือง ถ้าไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงก็อย่าจัดเลยครับ ไม่ใช่เวลาที่เหมาะ และจะเป็นการสนับสนุนให้ไวรัสแพร่เชื้อได้โดยง่าย ถ้าจำเป็นจะต้องจัดผมคิดว่ามีหลายวิธีที่จะแสดงความไม่เห็นด้วย ถ้าทำทางอื่นได้แนะนำให้ทำทางอื่น ในมุมมองด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับเรื่องที่อาจไม่สำคัญจำเป็น เพราะสุขภาพของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แนะนำว่ากิจกรรมบางอย่างสามารถชะลอได้ก็ชะลอไป"นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวถึง ผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนัก 2 รายที่ยังคงรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนั้น ในรายที่เป็นคนหนุ่ม มีอาการดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ส่วนอีกรายที่เป็นผู้สูงอายุและมีอาการวัณโรคร่วมด้วยนั้น อยู่ในภาวะวิกฤตคงที่ ไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น

ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเรื่องพบพนักงานของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านใจกลางเมืองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 ราย และมีการกักตัวอีก 40 คนนั้น กระทรวงฯยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ในกรณีดังกล่าว น่าจะเป็นการบอกต่อ ๆ กันมามากกว่า

"กระทรวงฯ ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ น่าจะเป็นการบอกต่อ ๆ กันมาแบบปากต่อปาก"นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ระบุว่าข่าวดังกล่าวน่าจะเป็นข่าวลือ โดยพนักงานทุกคนยังมาทำงานตามปกติ และหากพบผู้ติดเชื้อจริงก็จะไม่มีการปิดข่าว เพราะต้องแจ้งให้ทุกคนรับทราบและดูแลตัวเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ