ศาลปกครอง เล็งนำ AI ใช้บริหารจัดการคดี ตั้งเป้าเป็น Smart Admincourt

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2020 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศาลปกครองในรอบปี 2562 ที่ผ่านมาว่า ในภาพรวม 19 ปี ที่ผ่านมา นับจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 ศาลปกครองรับคดีเข้าสู่การพิจารณาแล้ว จำนวน 162,079 คดี เป็นคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 114,724 คดี และเป็นคดีอุทธรณ์หรือฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุด จำนวน 47,355 คดี โดยศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ จำนวน 135,148 คดี คิดเป็น 83.38% ของคดีรับเข้า

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ศาลปกครองจะเดินหน้าพัฒนาให้เป็นศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างสะดวก ง่าย รวดเร็ว ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง อันเป็นการเข้าสู่ศาลปกครองอัจฉริยะ (Smart Admincourt) ต่อไป โดยได้กำหนดเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งนี้กำหนดให้ปี 2563 เป็น "ปีแห่งการพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล" โดยจะพัฒนาให้การอำนวยความยุติธรรมทางปกครองมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน มีความรวดเร็ว ส่งเสริมให้มีการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยอย่างจริงจัง และส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคมสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรม ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สะดวก ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีที่ประชาชนสนใจเพื่อแสดงความโปร่งใสด้วย

โดยในระยะสั้น ศาลปกครองกำลังเตรียมการเพื่อนำเข้าข้อมูลสารสนเทศจากคำฟ้อง คำให้การ และเอกสารหลักฐานต่างๆ ในรูปแบบของข้อความ ภาพ และเสียง ทั้งจากกระดาษและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เทคโนโลยีแปลงเสียงเป็นข้อความ และแปลงภาพเป็นข้อความด้วยเทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) เพื่อนำเข้าสู่ระบบจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

หลังจากนั้นจะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) มาช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสารในสำนวนคดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านธุรการศาลได้เป็นอย่างดี รวมทั้งพัฒนาระบบ AI ที่จะช่วยตุลาการในการสืบค้นกฎหมาย คำพิพากษา แนวคำวินิจฉัย ตามประเภทคดี ข้อเท็จจริงในคดี ประเด็นข้อพิพาท รวมถึงหลักกฎหมายปกครอง ซึ่งจะช่วยในการสร้างบรรทัดฐานในการพิพากษาคดีของศาลปกครอง

ส่วนในระยะยาว จะมีระบบสารสนเทศที่ช่วยวิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ และเอกสารหลักฐานด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาข้อมูลที่มีความสอดคล้องและขัดแย้งกัน รวมถึงช่วยตุลาการในการจัดลำดับความสำคัญในการพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆ และเป้าหมายต่อไปของศาลปกครองคือการพัฒนาระบบช่วยร่างคำพิพากษาที่นำข้อมูลจากคำฟ้อง คำให้การ บันทึกคำพยาน และเอกสารหลักฐานมาประมวลและยกร่างคำพิพากษาเพื่อช่วยลดเวลาของตุลาการในการจัดทำคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ และระบบดังกล่าวจะช่วยตรวจสอบความสมบูรณ์ของคำพิพากษาในขั้นตอนสุดท้ายว่ามีการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ศาลปกครองอำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

พร้อมกันนี้ ศาลปกครองจะพัฒนา Mobile application ที่ประชาชนและคู่กรณีสามารถใช้ในการยื่นฟ้องคดี และดำเนินกระบวนพิจารณาได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และจะได้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ หุ่นยนต์ให้บริการผ่าน Cloud computing มาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อที่ศาลปกครอง ซึ่งจะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระบบเครือข่ายสัญญาณความเร็ว 5G ที่จะมารองรับให้การดำเนินการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของศาลปกครองเป็นไปได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากภารกิจด้านการพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว ศาลปกครองยังได้มีการปรับปรุง พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ 1.การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดีและบังคับคดีปกครอง เช่น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 โดยการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 การเพิ่มขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.62 เป็นต้นมา และจนถึงวันที่ 15 ก.พ.63 ศาลปกครองชั้นต้นมีคดีที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจำนวน 61 คดี สามารถไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ 35 คดี

2.การยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน โดยการเปิดใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาชน ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.62 ซึ่งเป็นระบบที่รองรับการดำเนินการทางคดีตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น คือ การยื่นฟ้องไปจนถึงสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาโดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้ระบบนี้แล้วจำนวน 241 คน และมีคดีอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ศาลปกครองรวมจำนวน 41 คดี เป็นคดีของศาลปกครองกลางจำนวน 38 คดี ศาลปกครองสูงสุดจำนวน 1 คดี และศาลปกครองในภูมิภาคจำนวน 2 คดี

ผลจากการพัฒนาและปรับปรุงหลายภาคส่วนของศาลปกครองในปีที่ผ่านมา ทำให้ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองของศาลปกครองประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยมีสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลปกครอง 88.05% และมีความพึงพอใจต่อคุณภาพการให้บริการของสำนักงานศาลปกครอง 97.42%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ