COVID-19"อนุทิน"พร้อมทีมแพทย์อาวุโสแถลงยืนยันมาตรการรัฐคุมเข้มรับมือโควิด-19 ได้ยังไม่จำเป็นต้องปิดประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday March 19, 2020 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมวอร์รูมร่วมกับอาจารย์แพทย์อาวุโส และอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยยืนยันว่ามาตรการของรัฐบาลที่เพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั่นการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 เหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว โดยยังไม่จำเป็นต้องปิดประเทศ

"ขณะนี้เราดักข้างนอกหมดแล้ว โควิด-19 มาจากข้างนอก ปิดประตูบ้านหมดแล้ว ปิดชายแดน ทุกๆ ด่านในประเทศไทย เราก็ทำเต็มที่ ทำไมต้องไปพูดปิดประเทศให้คนตื่นตกใจ ถ้าทุกคนทำตามคำแนะนำที่บอกให้อยู่บ้าน ไม่ต้องเดินทาง อยู่กับที่ โอกาสการเกิดโรคก็น้อยลง หากติดก็น้อยลง สนามมวย สถานบันเทิง ปิดให้หมดแล้ว อย่าจัดคอนเสิร์ตอีกนะครับ ขอความกรุณาผู้ว่าฯ งดกิจกรรมทุกอย่าง 14 วันต้องดีขึ้น ไม่มีอะไรที่เราควรจะทำและไม่ได้ทำแล้ว ไม่มีการเกรงใจอะไรใครอีกแล้ว"นายอนุทิน ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำให้ทำ Social Distancing เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้น้อยลงไปอีก

"โชคดีของเรา โควิด-19ไม่เดินทางเอง และเข้าทางปากง่ายที่สุด แต่โอกาสเข้าก็ไม่ใช่ง่าย ดังนั้นกินร้อน ช้อนกู ต่างคนต่างอยู่ ห่างกู 2เมตรเท่านี้ ก็จะจบความเป็นไปได้ในการติดเชื้อ ถ้าใครติดเชื้อรักษาได้ ไม่ตายครับ...ทำหมดแล้วครับ เหลืออย่างเดียวเข้าใจเราและให้ความร่วมมือ ตามที่อาจารย์หมอแนะนำ ทำนะ 14 วันตามทฤษฎี โรคไม่ได้เดินเองได้ และ Social Distancing พวกผมต่อให้ติดก็ต้องทำงาน ติดก็เอายามากิน ขอให้เกิดความมั่นใจ"

นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้มั่นใจในการทำงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องการรักษา และป้องกันควบคุม ซึ่งทีมงานของกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมรับมือ โดยสถิติตัวเลขผลลัพธ์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ยังอยู่ในความควบคุม หากไม่เชื่อสิ่งที่เป็นนามธรรม ก็ให้พิจารณารูปธรรมคือตัวเลขต่าง ๆ ที่เป็นคำอธิบายของทุกอย่าง

พร้อมย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมาทั้งหมดไม่เคยสูญเปล่า ในช่วงแรกของการระบาดในประเทศไทยเรารักษาคนจีนติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาในประเทศด้วยการดูแลอย่างดี แต่กลับโดนตำหนิว่าดูแลเฉพาะคนจีนไม่ดูแลคนไทย เพราะช่วงนั้นไม่มีคนไทยป่วย วันนี้จีนส่งทูตมาพบนายกรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนเวชภัณฑ์ยาทุกอย่างให้กับประเทศไทย แม้กระทั่งหลักวิชาการในการดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาด

นอกจากนี้ นายแจ๊ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งอาลีบาบา พร้อมจะมอบอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ชุดป้องกัน PPE หน้ากากอนามัย และอีกหลายอย่างให้กับไทย แต่ทางการจะมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมจัดซื้ออุปกรณ์ เวชภัณฑ์ทุกอย่าง ขอเพียงนายแจ๊ค หม่า ใช้ความสัมพันธ์ช่วยติดต่อกับผู้ผลิต ยา เวชภัณฑ์ และหน้ากากให้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมือเป็นอย่างดี

"หน้ากากตอนนี้ซื้อวันละเป็นล้านแผ่น ยารักษา มีแสนซื้อแสน มีล้านซื้อล้าน สต็อกให้มากที่สุด เพราะสุขภาพประชาชนสำคัญที่สุด"นายอนุทิน กล่าว

ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า ทิศทางการควบคุมโรคระบาดของไทยขณะนี้อยู่ทำมาถูกทางแล้ว โดยเมื่อพบโรคระบาดจะทำได้ 3 ทิศทาง คือ ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยไป ส่วนทิศทางที่ 2 คือ หน่วงโรค ทำให้เหมือนเวลาฝนตกมีการสร้างฝายน้ำ ให้น้ำค่อยๆ ผ่านไป ไม่ใช่ลงมาตูมเดียวทำให้บ้านเรือนเสียหาย และทิศทางที่ 3 คือ การปิดประเทศ ดังนั้นทิศทางของกระทรวงสาธารณสุข คือ หน่วงโรคจนใกล้ปิดเมือง

"จำเป็นต้องหน่วงโรค เพราะหากไม่ทำอะไร เหมือนฝนตก น้ำไหลจากภูเขาเยอะ ไม่ทำฝายกัน เราจะไม่โรงพยาบาล ไม่มีเตียง ไม่มีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการหน่วงโรค ยืนยันทิศทางที่ทำมาถูกต้องแล้ว"นพ.ไพจิตร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเหล่านี้ไม่ใช่มาตรการที่จะใช้ถาวร โดยจะต้องมีการประเมินทุก 2 สัปดาห์ หากสถานการณ์เปลี่ยน ทิศทางอาจต้องเปลี่ยน ไม่มีใครต่อสู้กับโรคระบาดทั่วโลกโดยใช้ทิศทางเดียวตลอดไป

นพ.ไพจิตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนะนำให้ประชาชนช่วยรับผิดชอบต่อสังคม โดยพยายามอยู่กับบ้าน เพราะโรคนี้ติดต่อหากอยู่ใกล้กันต่ำกว่าระยะ 6 ฟุตมีโอกาสติดเชื้อ ซึ่งเรื่องนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่าเป็นวิธีดีที่สุดก่อนจะมียาหรือวัคซีนเฉพาะโรคออกมา รวมทั้งให้ผู้สูงอายุอยู่กับบ้าน เนื่องจากถือเป็นกลุ่มเสี่ยง หากสังคมช่วยกันรับผิดชอบ ดูแลตนเอง พยายามให้มี social distancing คนมีความเสี่ยงหยุดการเคลื่อนไหวให้มากที่สุด 2 อาทิตย์ หรือ 1 เดือนก็เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

"ส่วนต้องทำนานแค่ไหนนั้น คลื่นลูกแรกมาจากจีน และปิดประเทศไปแล้ว คลื่นลูกที่สอง นอกจีน มาจากยุโรป จะถาโถมมาหาประเทศไทย หากอึดใจ 2-3 เดือนให้คลื่นผ่านก็จะจบ ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น ตรงนี้อาศัยประสบการณ์ต่อสู้ไข้หวัดใหญ่ ซาร์ส ไข้หวัดนก"นพ.ไพจิตร์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ