(เพิ่มเติม1) COVID-19: สธ.เผยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่ม 122 ราย แนวโน้ม ตจว.เพิ่มขึ้นจากการย้ายถิ่นฐาน

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2020 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม1) COVID-19: สธ.เผยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่ม 122 ราย แนวโน้ม ตจว.เพิ่มขึ้นจากการย้ายถิ่นฐาน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ 122 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 จำนวน 20 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ได้แก่ สนามมวย กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายเดิม อาทิ พนักงานบริษัท นักเรียน พนักงานนวด เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ 10 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ และกลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัด หรือต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ

(เพิ่มเติม1) COVID-19: สธ.เผยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่ม 122 ราย แนวโน้ม ตจว.เพิ่มขึ้นจากการย้ายถิ่นฐาน

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติ แต่อยู่ระหว่างรอสอบสวนโรคเพิ่ม 92 ราย

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 721 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 52 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 668 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 7 ราย จากสถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลในสังกัดโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาลบาลเอกชน ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจากการย้านถิ่นฐานในระยะนี้ หลังจากมีการประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตั้งแต่ 22 มี.ค.ถึงวันที่ 12 เม.ย. และการปิดด่านชายแดน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอให้ผู้ที่เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค และกักตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการเหมือนกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากเกาหลีใต้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ชม ผู้ทำงาน ในสนามมวย สถานบันเทิง ที่กลับไปภูมิลำเนา พ่อ แม่ ภรรยา สามี ลูก หลาน หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสติดเชื้อได้ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การกักกันตัวเอง รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และยังไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อทันที ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาจากการตรวจเชื้อ 3 หมื่นราย ในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) ประมาณ 10,000 ราย ผลยืนยันพบเชื้อเพียง 400 ราย หรือเพียง 4% เท่านั้น ส่วนอีก 2 หมื่นรายไม่พบเชื้อ

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการปรับวิธีการตรวจเชื้อโดยยืนยันจากผลแล็บเพียงแห่งเดียว จากเดิมที่จะต้องรอผลแล็บ 2 แห่งยืนยันตรงกัน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานนี้พุ่งขึ้นไปเป็น 188 ราย แต่วันนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาอยู่ในระดับปกติแล้ว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีโควิด-19 ขอให้ศึกษาจากประเทศที่เข้าสู่ 100 ราย ซึ่งจากสถิติการแพร่ระบาดพบว่า หากประเทศใดจำนวนผู้ติดเชื้อถึง 100 รายแล้วจะมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เช่น อิตาลี อิหร่าน สหรัฐ อังกฤษ เนื่องจากระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน เพราะใน 1 เคสที่คอนเฟิร์มติดเชื้อ สาธารณสุขจะต้องออกแรงดูผู้ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

"สาเหตุการเสียชีวิตหลัก คือ ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกได้ โดยต้องตัดสินใจว่าจะช่วยกันเพื่อทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทยอยลดลงหรือให้พุ่งไปหลายๆพัน อยากให้ไทยเป็นเหมือนยุโรปหรือไม่

วันนี้เราอยู่ที่ 721 ราย เรายังอยู่ในช่วงที่ทางการแพทย์เรียกว่า Golden Period หรือเวลาทอง ถ้าเราไม่มีประพฤติปฏิบัติตัวมีวินัยเคร่งครัดที่จะอยู่บ้านหยุดเชื้อ หรือออกจากบ้านก็ต้องระมัดระวังป้องกันตัวเอง เราจะเดินไปเหมือนยุโรป อีกไม่กี่วันก็จะทะลุพัน อีกไม่กี่วันจะทะลุหลายๆพัน แล้ววันนั้นก็นึกไม่ออกว่าในทางการแพทย์เราจะรับมือได้มากน้อยแค่ไหน ถึงแม้เราจะทำดีแค่ไหนก็มีความเสี่ยงที่จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม" นพ.ศุภกิจ กล่าว

รองปลัด สธ.กล่าวว่า ขอให้ประชาชนช่วยดำเนินการตามมาตรการที่ภาครัฐออกมา เช่น การปิดร้านอาหารแล้วออกไปตั้งวงเหล้านอกพื้นที่ ซึ่งหากสังคมไม่ให้ความร่วมมือ รัฐอาจมีจำเป็นต้อง lock down บังคับทุกคนอยู่ในบ้าน หากทุกคนร่วมมือกันก็จะประสบความสำเร็จเหมือนประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน

สำหรับผู้ที่เดินทางออกไปต่างจังหวัดในขณะนี้มีความเสี่ยงนับตั้งแต่ขึ้นรถโดยสารสาธารณะ จึงต้องมีมาตรการป้องกันตัวเอง เพราะอยู่ในพื้นที่แออัดเป็นเวลานาน และขอให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค และกักตัวตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมเครื่องมือไว้ให้มากที่สุด ในส่วนของเตียง เตรียมไว้ 1 หมื่นเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก และ 2,000-3,000 เตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก

"แต่ไม่ว่าเตียงจะมากอย่างไรแต่บุคลาการทางการแพทย์มีจำกัด ขึ้นกับความเร็วของการมา ถ้าผู้ป่วยค่อยๆมา แพทย์ก็มีเพียงพอที่จะดูแลได้ เราอยู่บนทางสองแพร่ง จะไปซ้ายหรือขวาประชาชนเป็นผู้เลือกล้วนๆ เลย ส่วนปัญหาน้ำยาตรวจยืนยันว่ามีเพียงพอ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ