สป.จี้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมดูแลการโฆษณาขนมกรุบกรอบทางวิทยุ-โทรทัศน์

ข่าวทั่วไป Friday July 6, 2007 09:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายประวิทย์ สี่สถาพรวงศา ประธานคณะทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.)เตรียมทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้กรมประชาสัมพันธ์เร่งกำหนดนโยบายควบคุมการโฆษณาขนมกรุบกรอบสำหรับเด็กผ่านทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันเด็กบริโภคจนเกิดโรคอ้วน เช่น งดโฆษณาขนมเด็กในรายการการ์ตูน รายการเด็ก รวมถึงงดใช้เด็ก ตัวการ์ตูน ดารา นักร้อง บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นผู้นำเสนอสินค้า, งดโฆษณาใช้ของแจก แถม เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันทางตลาด และปริมาณโฆษณามีความถี่มาก ส่งผลให้ขนมที่ไม่มีประโยชน์เป็นที่แพร่หลายในท้องตลาด
ปัจจุบัน ตลาดขนมกรุบกรอบมีมูลค่าปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากบริษัทต่างชาติที่ใช้กลยุทธตลาดหลากหลายเพื่อจูงใจเด็ก สอดคล้องกับการสำรวจที่พบว่าอิทธิพลการโฆษณาจะมีผลให้เด็กซื้อขนมมากกว่าวิธีอื่น ซึ่งหากมีมาตรการควบคุมโฆษณาเหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชื่อว่าเด็กจะลดปริมาณการบริโภคลง
"สป.จะเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาการควบคุมโฆษณาขนมกรุบกรอบ และทราบมาว่ามีบริษัทรับจ้างทำโฆษณาและผู้ผลิตสินค้าบางรายที่ได้รับผลกระทบพยายามรวมกลุ่มเคลื่อนไหวไม่ให้หน่วยงานราชการควบคุมโฆษณาดังกล่าว" นายประวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีแนวทางการควบคุมอื่น ได้แก่ งดจำหน่ายขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมในโรงเรียน, ให้ความรู้ความเข้าใจแก่เด็กในการเลือกบริโภค, กำหนดให้มีการเรียนการสอนโดยส่งเสริมการประกวดเรื่องสุขภาพ, กำหนดเป็นตัวชี้วัดคุณภาพโรงเรียน, สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการดูแลตรวจสอบการจำหน่ายขนมเด็กบริเวณหน้าโรงเรียน, ให้ชุมชนที่ผลิตสินค้าโอทอป ผลิตขนมสุขภาพทดแทนขนมกรุบกรอบ เช่น ขนมที่แปรรูปจากผัก และผลไม้ เพื่อส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างรายได้แก่ชุมชนเพิ่ม
รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตหันมาผลิตขนมที่มีคุณค่าทางอาหาร, รณรงค์ให้เด็กเลิกรับประทานขนมกรุบกรอบที่ไม่ประโยชน์ และให้มีหน่วยตรวจสอบผู้ประกอบการขนมเด็กอย่างจริงจังเพื่อให้ปฎิบัติตามระเบียบที่วางไว้ หากใส่ส่วนประกอบที่อันตรายเกินมาตรฐานจะต้องมีโทษที่รุนแรง เพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกที่ดีต่อไป ส่วนการโฆษณาต้องมีคำเตือนทุกครั้งคือ ไม่ควรบริโภคเกิน 2 ครั้งต่อวัน หรือข้อความที่เป็นกลาง
นายประวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เช่น เกาหลีมีมาตรการห้ามโฆษณาอาหารและน้ำอัดลมที่มีของแถมผ่านโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต ขณะที่การโฆษณาอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล เกลือที่มีปริมาณสูง ต้องเป็นช่วงเวลา 21.00 น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ