COVID-19สธ.ย้ำ 2 พฤติกรรมหยุดแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 "ทำงานที่บ้าน-เว้นระยะห่าง" ขอความร่วมมือหลังยังไม่ถึงเกณฑ์

ข่าวทั่วไป Wednesday April 1, 2020 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลการศึกษาระบาดวิทยาสุขภาพจิตจากประชาชนกว่า 15,000 คนที่ทำแบบคัดกรองความกังวลต่อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า 2 พฤติกรรมสำคัญที่เป็นหัวใจของการหยุดเชื้อคือ 1.การหลีกเลี่ยงไปในที่แออัดด้วยการ Work from Home มี 71% ทำบ่อยๆ 24% และทำบ้างไม่ทำบ้าง 4%

2.การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล Social Distancing ไม่เข้าใกล้ผู้อื่นในระยะ 2 เมตร ที่ทำประจำมี 67% ทำบ่อยๆ 26% และทำบ้างไม่ทำบ้าง 5.5%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประชาชนที่ทำเป็นประจำสะท้อนว่าความตระหนักและการช่วยกันอย่างจริงจัง แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะช่วยลดการแพร่โรคโควิด-19 ได้

"ประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วประเทศให้ได้อย่างน้อย 80% ของประชากรทั้งหมดช่วยกันเว้นระยะห่าง อยู่บ้าน อยู่ห่าง เพื่อให้ไทยอยู่รอด"

พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวถึงการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในต่างประเทศ ทั้งที่เป็นคำสั่งของรัฐบาลและไม่ใช่คำสั่งของรัฐบาล โดยหลายประเทศในยุโรปประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคมเช่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม เยอรมนี โดยมีการประกาศทั้งในระดับประเทศและระดับเมืองหรือว่าเป็นเขตพื้นที่และมีบางประเทศจึงเริ่มใช้มาตรการไม่นานมานี้เช่นและมีบางประเทศที่เริ่มใช้มาตรการให้อยู่บ้าน เช่น ห้ามออกมาในยามค่ำคืน อย่าเดินเกาะกันเป็นกลุ่ม อย่าสังสรรค์กัน

ขณะที่นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ชี้แจงกรณีที่มีการอ้างสถานการณ์ที่สหรัฐฯมีการติดเชื้อโควิด-19 ในอากาศ ว่า สถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นการแพร่ระบาดทางอากาศ แต่เป็นการแพร่ระบาดจากน้ำลายจากการเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ โดยการติดเชื้อสามารถติดได้ 2 ทาง 1.คือการหายใจรับเชื้อเข้าไปโดยตรง ซึ่งลักษณะนี้ต้องเข้าไปอยู่ใกล้กับผู้ป่วยพอสมควร 2.ถ้ามีผู้ป่วยไอทิ้งเอาไว้ แล้วเชื้ออยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื้ออยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมได้ค่อนข้างนาน อาจจะอยู่ได้ประมาณ 2-3 วัน ถ้าผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยลดการแพร่ระบาดลงได้กว่า 97% เพราะฉะนั้นตัวผู้ป่วยสำคัญที่สุดเวลาไอหรือจามจะต้องปิดปากและจมูกทุกครั้ง และจะต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง

สำหรับกรณีมีคนไทย 19 คนกลับจาก ร่วมพิธีทางศาสนาประเทศอินโดนีเซียและติดเชื้อโควิด-19 นั้น นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ ค่อนข้างจะมาก แต่เข้าใจว่าตัวเลข 19 รายนี้ไม่น่าจะใช่ผู้ป่วยยืนยันทั้งหมดน่าจะเป็นแค่ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยและเป็นผู้เดินทางเข้าประเทศที่มีอาการไข้ซึ่งจะต้องรอการตรวจขั้นตอนต่อไป

"เวลานี้ถ้าใครเดินทางกลับมาจากต่างประเทศและมีอาการไข้และก็สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด วิธีการคือจะตรวจเชื้อแบบเร่งด่วนและจะให้ผู้เดินทางรอผลการตรวจอยู่ที่สนามบินโดยอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้.. ขณะที่พื้นที่ไหนตรวจเจอผู้ป่วยรวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนถ้าตรวจหาการติดเชื้อโควิชจะต้องเก็บตัวผู้ป่วยเอาไว้จนกว่าจะได้ผลและถ้าพบเชื้อเป็นบวกก็จะต้องรับผู้ป่วยเอาไว้ดูแลต่อไปนี่คือมาตรฐานที่กำหนดมาสักพักแล้ว.. เวลานี้สนามบินสามารถจัดพื้นที่ไว้รองรับผู้ป่วยเพื่อรอผลตรวจได้ แล้วตอนนี้ผลตรวจค่อนข้างที่จะออกเร็วถ้าคนไข้คนไหนมีอาการและตรวจผลเป็นบวกเราก็จะส่งไปที่โรงพยาบาล แต่ถ้าใครผลเป็นลบเราจะส่งเข้าสถานที่กักกัน ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเดินทางเข้าประเทศผ่านช่องทางไหนหรือว่าจะมีประวัติอย่างไร"นพ.ธนรักษ์ กล่าว

สำหรับกรณีผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครนายกติดเชื้อนั้น นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เท่าที่สอบสวนพบว่าไม่เคยเข้าไปในตัวพื้นที่เรือนจำหรือพื้นที่ที่มีผู้ต้องขังอยู่ แต่ทำงานด้านนอกเรือนจำซึ่งทำให้ค่อนข้างจะสบายใจในระดับหนึ่ง แต่ผลการสอบสวนรายละเอียดในระดับต่อไปจะแถลงในวันพรุ่งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ