COVID-19สธ.ขอทุกฝ่ายร่วมมือกันกวดขันดูแลตัวเองเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

ข่าวทั่วไป Sunday April 5, 2020 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศค่อนข้างดี ไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเหมือนในต่างประเทศ แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่พอใจกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน โดยต้องการให้มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจากหลักร้อนเป็นหลักสิบและเป็นศูนย์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงจะประสบความสำเร็จ

"หากถามว่าเราจะพ้นวิกฤตเมื่อไหร่ จะต้องให้ทุกคนช่วยตอบ คงให้บุคคลากรทางการแพทย์เป็นคนตอบฝ่ายเดียวไม่ได้ ถ้าอยากพ้นวิกฤตก็ให้ร่วมมือกันทุกคน ทั้งคนในประเทศและคนที่จะเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ...เราต้องดูแลจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำจะได้ไปไม่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยหนัก" นพ.ธนรักษ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงฯ กำลังดำเนินการสอบสวนโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้นและตัดวงจรการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันประชาชนต้องปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงใน 4 ข้อ คือ 1.การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ยังทำกันไม่ถึง 80% 2.การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เพราะทุกครั้งที่ออกจากบ้านมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อจากคนอื่น เมื่อกลับเข้าบ้านก็มีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่น 3.การล้างมือบ่อยๆ และ 4.การสวมหน้ากากอนามัย

"บางเรื่องภาครัฐไม่สามารถไปสั่งการหรือก้าวก่ายภาคเอกชนได้ เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือเหลื่อมเวลาทำงาน คงต้องขอความร่วมมือ" นพ.ธนรักษ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงฯ กำลังลงไปดูแลพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดน้อยอย่างเข้มข้นเพื่อให้ผู้ป่วยหมดไปโดยเร็ว ส่วนการผลิตวัคซีนนั้นคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการใช้ยารักษาผู้ป่วยนั้นจะเป็นไปตามแนวทางของคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งที่ผ่านมาได้พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาผู้ป่วยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งเรื่องของประเภทยาให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย ซึ่งในวันพรุ่งนี้คณะผู้เชี่ยวชาญจะมีการประชุมอีกครั้ง สำหรับการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์นั้นจะให้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปอดรุนแรงเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดซื้อเตรียมไว้ 8.7 หมื่นเม็ด ใช้ไปแล้ว 4.8 หมื่นเม็ด คงเหลือ 3.8 หมื่นเม็ด และเร็วๆ นี้จะได้รับมอบของที่ซื้อจากจีนไปอีก 1 แสนเม็ด เนื่องจากขณะนี้ทุกประเทศต้องการใช้และมีปริมาณจำกัด ส่วนที่มีข่าวการได้รับบริจาคให้นั้นเป็นเพื่อการทดลองราว 2 พันเม็ดไม่สามารถนำมาใช้รักษาคนป่วยได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ