สภาธุรกิจฯ แนะรัฐใช้แอพฯติดตามตัว-ลำดับธุรกิจก่อนปล็ดล็อกโควิด, นายกสมาคมบจ.แนะเอกชนปรับตัวยืดหยุ่น

ข่าวทั่วไป Monday April 13, 2020 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในรายการ CEO TALK พลิกวิกฤต ประเด็น What is Thailand Exit Strategy from Lockdown? ว่า ก่อนที่จะมีการปลดล็อกประเทศเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย FETCO ได้เสนอแนะกับภาครัฐว่าควรให้มีการทำแอพพลิเคชั่นติดตามตัวเหมือนกันประเทศจีน และศึกษาธุรกิจที่เปิดดำเนินการในประเทศจีนหลังเปิดประเทศ โดยให้ลำดับธุรกิจที่จะเปิดดำเนินการก่อนและธุรกิจที่เปิดดำเนินการหลังสุด

ประธาน FETCO กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หลังรัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และอื่นๆ รวม 10 องค์กร ซึ่งหลักๆ เป็นการพูดคุยถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่ออกมาแล้ว จำนวน 3 ชุด และมาตรการต่อไปที่จะต้องทำต่อไป

มาตรการ 3 ระยะที่รัฐบาลประกาศออกมา หรือมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ ภาคเอกชนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า มาถูกทางแล้ว แต่อาจจะไม่เพียงพอในบางจุด โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้การเลิกจ้างงานเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งหลายๆ ประเทศมีการเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อที่จะให้สามารถยังรักษาบุคคลากรไว้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเลิกจ้าง เช่น ให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ซึ่งก็ได้มีการเจรจากัน โดยทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับเรื่องและจะนำเรื่องเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา อีกทั้งยังมีการพูดคุยกันถึงภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดและน่าจะกลับมาได้ช้าที่สุด

ส่วน FETCO เสนอเรื่องการสนับสนุนการทำงานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสะดวกมากขึ้นและถูกกฎหมาย เช่น การประชุมคณะกรรมการบริษัทผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปัจจุบันได้กำหนดไว้ว่าหากคณะกรรมการไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน 1 ใน 3 ขององค์ประชุม ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งอยากให้มีการปลดล็อก หรือในแง่ของกรรมการต่างชาติที่ไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่มีการ VDO Conference ก็ไม่ถูกนับเป็นองค์ประชุม ทำให้ไม่มีสิทธิออกเสียง อย่างไรก็ตาม อยากจะใช้โอกาสนี้ยกระดับการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นได้เร็ว

พร้อมกันนี้ยังมีการเสนอเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ค.63 ซึ่งหลายๆ สถาบันการเงิน ที่เป็นเจ้าของข้อมูลจำนวนมาก คงไม่สามารถรวบรวมได้ทัน ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการรับมือกับการปลดล็อกประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย โดยเสนอให้มีการทำแอพพลิเคชั่นติดตามตัวเช่นเดียวกันจีน เพื่อสร้างความสบายใจ และคัดกรองคนได้ รวมถึงการลำดับความสำคัญของการกลับมาเปิดดำเนินการของธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงแรก โดยแนะว่าควรเปิดใน sector ที่มีความเสี่ยงน้อยก่อน เช่น ธุรกิจที่อิงกับปัจจัย 4 ต่างๆ เนื่องจากมีความสำคัญ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร โดยจะต้องมีการกำหนดกติกาให้ชัดเจน เช่น การวัดไข้ ส่วนธุรกิจที่ควรจะอนุญาตเปิดช้าที่สุด คือ ธุรกิจที่อิงกับการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ เป็นต้น โดยจะต้องนำเอางบประมาณสำหรับธุรกิจที่เปิดแล้วนำไปเยียวยาให้กับธุรกิจที่เปิดทีหลังด้วย

"วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก โดยจากนี้ไปนายกรัฐมนตรีก็อยากจะให้ภาคเอกชนร่วมพูดคุยกันกับภาครัฐ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งจะมีการนัดประชุมกันทุกๆ สัปดาห์ และหลังจากนี้เราจะมีการ setup กลุ่มย่อย เพื่อไปดูในแต่ละเรื่อง เช่น SME, การใช้ดิจิทัลเข้ามาอำนวยความสะดวก ,การวางแผนก่อนปลด Lockdown, การปล่อยซอฟท์โลนให้กับ SME ต่างๆ และเรื่องของตลาดการเงิน เป็นต้น ซึ่งจะมีการนำข้อหารือต่างๆ ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เสนอต่อขึ้นไปยังรัฐบาล" นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่ภาครัฐได้ออกมาแล้วยังต้องรอดูว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งอยากให้ภาครัฐมีความยืดหยุ่นด้วย โดยเฉพาะการออก พ.ร.ก.โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท และเงินกู้ซอฟท์โลนให้กับ SME วงเงิน 5 แสนล้านบาท อาจเป็นไปได้ยาก ซึ่งส่งผลทำให้การใช้เงินอาจจะไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ที่จะออกมาควรนำไปใช้ได้จริง และอะลุ่มอล่วยพอที่จะทำให้ธุรกิจที่กำลังประสบปัญหา สามารถเข้าถึงเงินที่เตรียมไว้โดยไม่ยากมาก ซึ่งอยากเรียกร้องภาครัฐให้ดูเรื่องมาตรการระยะที่ 3 ให้ดี ว่าสามารถเกิดขึ้นจริงและนำไปใช้งานได้จริง และทำให้เศรษฐกิจสามารถได้รับการเยียวยาจริง

ด้านนางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า วิกฤตในครั้งนี้มีความแตกต่างจากในอดีตอย่างมาก โดยในอดีตมาจากความชะงักงันของตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนเป็นไปได้ยากขึ้น และเกิดการเฟ้อของราคาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในครั้งนี้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครตั้งใจ เนื่องจากเป็นการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งระบบยังคงเดินปกติ แต่การใช้จ่ายชะลอลงไป จึงต้องมีการพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

โดยมาตรการของรัฐที่ออกมาจะต้องช่วยทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจอย่างไม่ตกหล่น เพื่อรักษากลไกลทางเศรษฐกิจให้คงอยู่ และเมื่อเวลาปลดล็อก เมื่ออุปทานกลับมาใหม่ อุปสงค์ก็จะสามารถกลับเข้ามาลงทุน และผลักดันได้อย่างรวดเร็ว

"ถ้าเราไม่พยุงกันตอนนี้ หรือไม่ช่วยเรื่องของสภาพคล่องในตลาดทุน พวกหุ้นกู้ต่างๆ หรือไม่ช่วยเข้ามาซัพพอร์ตธุรกิจขนาดกลาง เล็ก ใหญ่ ก็จะทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้ ซึ่งการช่วยเหลือก็จะต้องช่วยทุกภาคส่วน เพื่อพยุงกันไปให้พ้นจากวิฤกตครั้งนี้ให้ได้ และเมื่อทุกอย่างดีขึ้น ทันที่ที่เราทยอยเปิดบาง secter ได้ ทันทีที่เริ่มกลับมาใช้จ่าย และกลับมาทำงานได้ เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปโดยไม่หยุดชะงัก"

นอกจากนี้เมื่อภาครัฐดูแลทุกภาคส่วนอย่างครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดการชะงักของกลไลของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันบริษัทต่างๆ จะต้องมีการปรับตัวด้วย และมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ตัวเบาไว้ หรือมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นมากพอ เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายจะช่วยให้กลับมาได้เร็ว เพื่อคว้าโอกาส รวมถึงรักษาคุณภาพ สภาพจิตใจพนักงาน เพื่อให้มีจิตที่หึกเหิมพอหลังกลับมาทำงาน รวมถึงการลงทุนนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้มีโอกาสต่อยอดธุรกิจ และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันให้ผลักดันในเรื่องของ e-Meeting, e-proxy ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

ขณะที่ภายหลังกลับมาดำเนินการตามปกติ แนะนำองค์กรต่างๆ ยังรักษาพฤติกรรมการอยู่ห่างกันไว้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง, การใส่หน้ากาก, การปรับกะเวลาทำงานของพนักงาน รวมถึงการมีแอพพลิเคชั่นติดตามตัว เพื่อระบุการเดินทาง หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใด และศึกษา ทำความเข้าใจลักษณะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือต้องมีข้อมูลของตลาด แล้วพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องเสริมสร้างกำลังใจให้แก่พนักงาน ความรู้ จิตสำนัก และสร้างความเข้าใจต่อเศรษฐกิจที่มีความแปรปรวนสูง ซึ่งบริษัทจะต้องมีการปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ