นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นการปรับปรุงแก้ไขจากกฎหมายเดิมเมื่อปี 30 ให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีในที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อรูปแบบใหม่เข้ามา เช่น วิทยุชุมชน, ทีวีดาวเทียม และเคเบิ้ลทีวี เป็นต้น กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบสื่อ และแบ่งสื่อออกเป็น 2 ประเภท คือ สื่อที่ใช้คลื่นความถี่ และสื่อที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้จะพยายามให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในรัฐบาลชุดนี้ นายธีรภัทร์ กล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์มีผลบังคับใช้แล้ว กิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จะมีบทเฉพาะกาลเพื่อให้สถานภาพเดิมยังคงอยู่ กล่าวคือให้ดำเนินกิจการไปจนกว่าจะครบอายุสัมปทานจากนั้นจึงค่อยเข้าสู่ระเบียบของกฎหมายนี้ ทั้งนี้ ได้แบ่งประเภทกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตไว้ 3 ประเภท คือ ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ซึ่งผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นองค์กร, ประเภทกิจการบริการชุมชน ใช้เฉพาะภายในชุมชนหรือท้องถิ่น และกิจการทางธุรกิจ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือระดับชาติที่ครอบคลุมให้ทั่วทุกภูมิภาค และระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัด อย่างไรก็ดี หลังจากที่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับวิทยุชุมชน(กวช.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)