(เพิ่มเติม) COVID-19: นายกฯ เผยสัปดาห์หน้าทบทวนสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมรับข้อเสนอปลดล็อคแต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 21, 2020 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ว่า จะพิจารณาทบทวนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัปดาห์หน้าว่ามีความจำเป็นต้องต่ออายุออกไปจากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.นี้หรือไม่

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา รวมถึงข้อเสนอให้ปลดล็อคมาตรการที่ได้ดำเนินการไปเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่การจะผ่อนคลายมาตรการใด ๆ จะต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้านด้วยความรอบคอบ เพราะหากดำเนินการเร็วเกินไป อาจจะนำให้สิ่งที่ทำมาทั้งหมดล้มเหลวและเรียกกลับคืนมาไม่ได้

"ผมไม่ต้องการให้การตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายๆ อย่าง ถ้าเราปลดอะไรเร็วเกินไป สิ่งที่ตามมา หากเกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดที่เป็นระยะนานพอสมควรจะล้มเหลวทั้งหมด จะทำอะไร เป็นเรื่องที่ผมต้องดูแลเป็นพิเศษ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ภาคเอกชนจัดเตรียมมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปลดล็อคให้กิจการกลับมาเปิดดำเนินการได้ก่อนจะยื่นข้อเสนอมายังรัฐบาล ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเปิดได้เมื่อไร หรือจะเปิดภายในวันที่ 1 พ.ค.ตามที่มีกระแสข่าวหรือไม่ และหากพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่เหมาะสม ก็จะยังไม่เปิด เพราะสิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพเป็นหลัก

ส่วนการส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังมหาเศรษฐี 20 รายนั้น ยืนยันว่าไม่ได้ขอเงินบริจาค แต่ต้องการความร่วมมือที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประเทศในรูปแบบของการจัดทำโครงการต่าง ๆ และต้องการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อจะได้ทำงานสอดประสานกัน ไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน บังคับ หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี คงไม่เดินทางไปพบมหาเศรษฐีทั้ง 20 คนด้วยตัวเอง แต่ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย

"ไม่ได้หมายความว่าจะไปกู้เงินหรือไปยืมเงินจากเขา รัฐบาลมีเงินของรัฐบาลอยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่ท่านทำอยู่แล้ว ก็ขอบคุณทุกท่านทั้ง 20 ท่าน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ก. 3 ฉบับสำคัญ คือ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน จำนวนไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะนำไปแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข เยียวยา และฟื้นฟู โดยทั้ง 3 ส่วนนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดกรองที่มีการแต่งตั้งไปแล้ว และได้มีการหารือร่วมกันแล้วว่าจะมีระเบียบปฏิบัติการใช้เงินอย่างไร ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และรอบคอบ

"การใช้จ่ายงบประมาณส่วนนี้ ทุกกระทรวงจะนำแผนงานเข้ามาเสนอ ครม.ให้ครบถ้วน ทันต่อสถานการณ์ ทั้งสาธารณสุข / เยียวยา และต้องฟังความคิดเห็นรอบด้านจากประชานทุกภาคส่วน และมอบหมายให้ส่วนราชการ นำไปพิจารณาอย่างถูกต้องและเหมาะสม" นายกรัฐมนตรีระบุ

ส่วน พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ เพื่อให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราวภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการรองรับการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ ทุนประเดิมระยะแรกไม่เกิน 4 แสนล้านบาท พร้อมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหารือกับ ธปท.พิจารณาด้วยความรอบคอบ รับข้อสังเกต ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน รวมถึงผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ