(เพิ่มเติม1) ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 3 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม, ผ่อนปรนเฟส 2 เริ่ม 17 พ.ค.ห้างมีลุ้นเปิดได้

ข่าวทั่วไป Thursday May 7, 2020 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกจากผู้สัมผัสกับผู้ที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซีย 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 55 ปี อาชีพแม่บ้านอยู่ที่ จ.ยะลา และอีก 2 รายเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อรอดูอาการ เป็นชายไทย อายุ 46 และ 51 ปี อาชีพรับจ้าง ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศคาซัคสถาน และมีผู้ร่วมเดินทางในเที่ยวบินเดียวกัน 55 คน ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,992 ราย ขณะที่รักษาหายเพิ่มขึ้น 11 ราย รวมผู้ป่วยที่หายป่วยกลับบ้านได้แล้วอยู่ที่ 2,772 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 165 ราย โดยวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 55 ราย

สำหรับจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน พบว่าเพิ่มขึ้น 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก ลำปาง ชัยภูมิ และตรัง รวมเป็น 39 จังหวัดแล้ว ทำให้กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 28 วันที่ผ่านมาเหลือเพียง 29 จังหวัด ขณะที่ 9 จังหวัดยังเหนียวแน่น ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อมาตั้งแต่แรก

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการประชุม ศบค.ในช่วงเช้าที่ผ่านมาซึ่งมีนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ได้มอบแนวทางการทำงานโดยขอให้ทุกภาคส่วนดูแลความสำคัญในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านอย่างเข้มงวดและลดผลกระทบจากโควิด-19 ในภาคส่วนต่างๆ แม้สถานการณ์จะเป็นที่น่าพอใจแต่ก็ยังต้องดำเนินการในเชิงรุก ดูแลอย่างเข้มงวดการเข้าออกประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ให้มีการนำเชื้อเข้ามาและต้องมีการทำ State Quarantines หรือ Local Quarantines ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ และมีมาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ มาตรการฉุกเฉินในระยะที่ 1 นั้น ได้ดำเนินการมาอย่างเคร่งครัด และห้ามละเลย ขอให้ศบค. หน่วยงานความมั่นคง ด้านสาธารณสุข ด้านทหาร ตำรวจ เข้าไปตรวจให้เป็นไปตามมาตรฐาน และข้อกำหนด พร้อมทั้งประสานผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ดำเนินการตามมาตรการ และดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้พิจารณามาตรการในด้านต่างประเทศ พร้อมให้รายงานผลจากการผ่อนคลายสถานการณ์ รวมถึงแนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งข้อเสนอของผู้ประกอบการ นายกรัฐมนตรีขอให้ศูนย์ช่วยเหลือทั้งหลายช่วยเร่งดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเก็บตกผู้ที่ตกหล่นทั้งหลายให้เข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาด้วย พร้อมทั้งดูแลเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานต่างๆ อย่างหนักให้ได้รับเบี้ยเลี้ยง

ด้านปลัดสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศยังมีการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ในส่วนของต่างประเทศที่เคยมีการระบาดและมีการผ่อนปรน ปรากฎว่ามีการระบาดอีกรอบ ส่วนในประเทศเกิดขึ้นจากผู้สัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ, การเคลื่อนย้ายของประชากร, การมั่วสุม การดื่มสุรา จึงมีข้อเสนอว่าให้คงมาตรการในประเทศให้เข้มข้นและตรึงการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศให้ได้

นายกรัฐมนตรีมีข้อชี้แนะว่าให้มีมาตรการแนวทางเฉพาะกิจการหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า ทั้งเรื่องความแออัด มาตรการกรณีที่เกิดรถเสีย มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าหรือไม่ การขายตั๋วต้องเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ รวมทั้งงานต่างๆ ของ 20 กระทรวงก็ต้องให้มีการประชาสัมพันธ์ในภารกิจของแต่ละกระทรวงที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งที่ประชุม ศบค.เห็นตรงกันให้มีการเหลื่อมเวลาทำงาน 30 นาทีอาจไม่พอ ต้องมีการเหลื่อมหลายช่วงเวลา โดยมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไปดูในรายละเอียดว่าจะทำให้มีการเหลื่อมมากขึ้นได้หรือไม่ เพราะการแออัดในสถานที่ขนส่งมวลชนเป็นเพราะยังมีการทำงานกันอยู่ การทำงานเหลื่อมเวลาคงจะช่วยได้

สำหรับการทำงานอยู่บ้าน หรือ Work from Home ซึ่งเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เน้นย้ำว่าต้องเกิดขึ้นมากที่สุด 50% ขึ้นไป มีการพูดคุยว่าจะเกิดมาตรการนี้อย่างไรเพื่อช่วยลดการเคลื่อนย้ายของคน การเข้าสู่กระแส New normal ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจรายงานการทำงานที่บ้านและการเหลื่อมเวลาการทำงาน ขณะที่สถานศึกษาให้ขยายช่วงเวลาเปิดเรียนออกไป โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการเรียนการสอน เช่น การสอนผ่านออนไลน์ หรือ โทรทัศน์ดาวเทียม เป็นต้น

ส่วนการรายงานการดำเนินมาตรการผ่อนปรน ทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ/กิจกรรม ที่ได้เริ่มไปแล้วเมื่อ 3 พ.ค.63 ว่า ในส่วนของบางกิจการจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร ได้แก่ การเปิดสถานดูแลผู้สูงอายุ ร้าน Furniture วัสดุก่อสร้าง กิจการที่เกี่ยวข้องกับด้านสินเชื่อ ประกันภัย ในห้างสรรพสินค้า ซึ่ง ศบค.จะพิจารณาผ่อนปรนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่มีในข้อกำหนด แต่ไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมโรค และเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดในการพิจารณาเพิ่มเติม

"การดูแลผู้สูงอายุแบบนอนค้างคืนสามารถทำได้ แต่แบบไป-กลับอาจจะยังต้องงด เนื่องจากเป็นการเดินทางไปมาอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ร้านขายวัสดุก่อสร้าง, เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ สินเชื่อประกันภัย ในห้าง เป็นต้น จะมีการพิจารณาการผ่อนปรนตามความจำเป็น เนื่องจากช่วงนี้มีภัยพิบัติ บ้านเรือนพังเสียหาย ประชาชนต้องซื้อหาวัสดุอุปกรณ์ โดยขณะที่อยู่ในช่วงการศึกษา, แก้ไข, ปรับปรุง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในระดับหนึ่ง แต่ต้องดูในข้อกฎหมายเพื่อพิจารณาให้เปิดได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ สมช."นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ในส่วนการผ่อนปรนระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันที่ 8-12 พ.ค.นี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสำหรับชุดข้อมูลเชิงสถิติ เชิงสถานการณ์ และความคิดเห็นต่างๆ หลังจากมีการผ่อนปรนระยะแรกไปแล้ว จากนั้นวันที่ 13 พ.ค.จะซักซ้อมความเข้าใจ และวันที่ 14 พ.ค.จะเป็นการยกร่างข้อกำหนดผ่อนปรนระยะที่ 2 นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้ตัวเลขผู้คติดเชื้อทะลุไปมากกว่าที่เป็นอยู่ วันที่ 17 พ.ค.ก็จะเริ่มเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 2 ในกิจการที่มีขนาดใหญ่และมีคนพลุกพล่านมากขึ้นกว่าระยะแรก

ส่วนห้างสรรพสินค้าจะได้เปิดทำการกลางเดือน พ.ค.นี้ ด้วยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ถ้าควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็คงสามารถเปิดได้แน่นอน เพราะทุกคนก็อยากกลับไปสู่ภาวะปกติ แต่ก็ต้องเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ซึ่งในแต่ละธุรกิจถ้ามีมาตรการที่ดี ไม่ใช่เฉพาะห้างฯ ก็จะได้เปิดเร็วขึ้น แต่ตอนนี้ยังเป็นหลักการอยู่ เพราะไม่ได้ขึ้นกับภาครัฐอย่างเดียว แต่ประชาชนต้องร่วมมือกันด้วย

"ออกกฎมาเพื่อให้ประชาชนร่วมมือ และหากประชาชนไม่ทำตามกฎจะต้องทำอย่างไร ถ้าตามมาตรการ อีก 10 วันข้างหน้า เราอาจจะได้ไปในที่ที่ทุกคนอยากไปอีกหลายที่"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ด้านกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานผลถึงคนไทยกลับจากต่างประเทศมี 2 หลักเกณฑ์ คือ กลุ่มเปราะบาง คือ ผู้ป่วย, คนตกค้างจากสนามบิน, วีซ่าหมดอายุ, นักท่องเที่ยวที่ตกค้าง และอีกกลุ่มที่ด่วนมากคือ พระสงฆ์, นักเรียนนักศึกษาที่ไปเรียน และคนตกงาน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้มีการเสนอว่าน่าจะมีการปรับในเรื่องการประกาศรายชื่อ และถอนประเทศบางประเทศออกไป เพื่อให้มีเรื่องของการทำงานหรือมีความสัมพันธ์ในเชิงด้านเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ที่ดีกันไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีและที่ประชุม ศบค.เห็นชอบ แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนไป ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่พึ่งพาการเดินทางต้องระมัดระวังด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าประเทศได้ทันที ยังต้องมีมาตรการต่างๆ ที่จะจัดการต่างๆ ซึ่งในที่ประชุม ศบค.คงต้องมีการพูดคุยกันต่อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เพิ่มเติมเรื่องการผลิตวัคซีนร่วมกันของอาเซียน และความเป็นไปได้ในการดึงผู้มีความรู้เข้ามาผลิตร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ