กอนช.ประเมินฝนยังกระจาย-ปริมาณน้อย คาดหนาแน่นกลาง ก.ค.- ก.ย.

ข่าวทั่วไป Thursday May 28, 2020 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามประเมินสภาพอากาศ รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝน เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำว่า ขณะนี้ปริมาณฝนยังมีการตกแบบกระจายตัวเฉลี่ยอยู่ประมาณ 40- 80 มม.ไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม และคาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 4-11 มิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือก่อนที่ปริมาณฝนจะตกมากขึ้นที่ประชุมได้เร่งรัดทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 8 มาตรการรับมือน้ำหลากให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมขัง น้ำหลาก อาทิ การแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืช การระบายน้ำคลองรอยต่อจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและสั่งการให้เร่งดำเนินการขุดลอก รวมถึงวางแผนการระบายน้ำจุดเชื่อมต่อต่าง ๆไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ การจัดทำระบบคาดการณ์น้ำล่วงหน้าสถานีหลักแห่งชาติ จำนวน 51 แห่ง เพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ โดยการเชื่อมโยงระบบคาดการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 63 เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวิเคราะห์ วางแผนบริหารจัดการน้ำของ กอนช. โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำสำคัญที่เกิดอุทกภัยน้ำหลากเป็นประจำ รวมทั้งพิจารณาสถานีโทรมาตรของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีแผนติดตั้งใหม่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกันด้วย

"ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มการเกิดพายุในช่วงนี้ แต่ยังมีแนวโน้มในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่น อาจเกิดน้ำท่วมฉันพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช.ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตาม 8 มาตรการรับมือฤดูฝนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ให้สอดคล้องกับพื้นที่และช่วงเวลาของปริมาณฝนคาดการณ์"

โดยได้แจ้งข้อมูลพื้นที่คาดการณ์เฝ้าระวังน้ำท่วมไปยังกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดร่วมบริหารจัดการน้ำ เก็บกักน้ำ ติดตาม เฝ้าระวัง และทำงานในระดับพื้นที่ เช่น ในเดือนมิถุนายนฝนส่วนใหญ่อยู่บริเวณเหนือ ภาคกลาง และทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน และภาคตะวันออก และลดลงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อกรกฎาคม ก่อนฝนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมปริมาณฝนจะเยอะมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในการเก็บกักน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในอนาคตทดแทนช่วงฝนน้อยในปีที่ผ่านมาได้ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังที่บางพื้นที่อาจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้โดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง และกทม. จากนั้นในเดือนกันยายนภาคอีสานจะเริ่มมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ และจะไปเพิ่มขึ้นที่ทางภาคใต้ในเดือนตุลาคมตามลำดับ

สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ และโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 63 พบว่า มีการดำเนินการแล้ว 137 แห่ง แบ่งเป็น อยู่ระหว่างการดำเนินการ 129 แห่ง แล้วเสร็จจำนวน 8 แห่ง ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมให้พร้อมเก็บกักน้ำได้มากขึ้นแบ่งเป็น ภาคกลาง 6 แห่ง ตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง และภาคตะวันออก 1 แห่ง ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 9 หมื่นลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 6 แสนไร่ ประชาชนรับประโยชน์ 435 ครัวเรือน มีการจ้างงานท้องถิ่น 43 คน โดยในวันที่ 10 มิถุนายนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขุดเจาะบ่อบาดาลตามที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในจังหวัดเลย และในวันที่ 11 มิถุนายนจะเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อติดตามความก้าวหน้ามาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ