COVID-19สธ.นำร่อง 7 รพ.ให้เคมีบำบัดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลดความแออัด ก่อนขยายให้ครบทุกภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Thursday July 9, 2020 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต ปิตุเดชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการให้เคมีบำบัดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งว่า กระทรวงฯได้ร่วมมือกับหลายสถาบัน คิดวิธีการรักษามะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 123.3/100,000 คน โดยจะนำร่องการให้เคมีบำบัดสำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงรายใหม่ก่อน โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัดและเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา ซึ่งเป็นก้าวแรกที่ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน

ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้เคมีบำบัดที่บ้านเป็นการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal of Medical Services) ในการปรับรูปแบบการให้บริการจากเดิมที่คนไข้ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการบริการ (Hospital Based Medical Services) เป็นการให้บริการทุกที่ทุกเวลา Personal Based Medical Services) โดยการใช้ Smart Medical Services

โดยการให้เคมีบำบัดที่บ้านได้เริ่มมาแล้วตั้งแต่ 1 ก.ค. โดยใน 3 เดือนของปีงบประมาณ 63 จะนำร่องในโรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถ้าผ่านการประเมินที่ดีปีหน้าจะทำให้ได้ 12 เขต พร้อมวางเป้าปีงบประมาณ 64 จะดำเนินการในโรงพยาบาลนำร่อง 30 แห่ง ครอบคลุมเขตสุขภาพ 13 เขตทั่วประเทศ

"วางเป้าไว้ว่าถ้าภายในปีงบประมาณหน้าทั้งปีจะพยายามขยายให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศและอาจจะขยายไปสู่มะเร็งชนิดๆอื่น"อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหิดล อธิบายขั้นตอนการให้เคมมีบำบัดที่บ้านว่า โดยปกติระบบการเข้ารับการรักษายาเคมีบำบัด คนไข้จะต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรอพบแพทย์และรอเตียงประมาณ 5-7 วัน ทำให้คนไข้มีการคลาดเคลื่อนในการรับยาและคนไข้มีความวิตกกังวล จึงมีการปรับรูปแบบมาเป็นการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Kemo)

จากผลการดำเนินการซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 4 ของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยในปี 2562 มีคนไข้ที่ได้รับการให้เคมีบำบัดที่บ้าน 1,774 ครั้ง ลดการใช้เตียงได้มากกว่า 3,500 เตียงต่อปี ซึ่งเปรียบเทียบการให้ยาที่บ้านกับนอนโรงพยาบาล พบว่า การให้ยาที่บ้านตรงเวลา 100% แบบนอนโรงพยาบาลตรงเวลา 70% แต่ผลข้างเคียงการรักษาไม่มีความแตกต่างกัน แต่จะมีทีมแพทย์พยาบาลดูแลเชิงรุก โทรหาผู้ป่วยทุกวันที่มีการบริหารยา

"เราพบว่าการให้เคมีบำบัดที่บ้านช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต นอกจากนี้คนไข้ที่ให้เคมีบำบัดที่บ้านสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 50,000 บาทต่อการรักษา 12 รอบต่อราย..ในปีแรกจะนำร่อง ปีที่ 2 จะพัฒนาในทุกเขตภูมิภาคของประเทศไทย และจะขยายไปสู่มะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งศีรษะและลำคอในระยะต่อไป"นพ.พิชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ