"หมอมานพ"เตือน!! โควิดระลอก 2 มาแน่...แค่วัดไข้เอาไม่อยู่ ต้องตรวจ-รู้ผลที่สนามบิน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2020 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โควิด-19 ระบาด!! กลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกรอบ...ต้นตอมาจากกรณีที่พบทหารอียิปต์ติดเชื้อโควิด-19 เข้าพักที่โรงแรมกลางเมืองระยองและฝ่ามาตรการกักตัวออกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า 2 แห่ง รวมทั้งกรณีพบสมาชิกครอบครัวนักการทูตซูดานติดเชื้อโควิด-19 เข้าพักในคอนโดฯกลางกทม.ขณะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

*เตือนคนไทย..โควิด"ระลอก2" มาแน่ !!

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นคนไทยในประเทศไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่เมื่อเปิดประเทศอีกครั้งให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าในไทย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

"ใครที่คิดว่ามนุษย์จะกำจัดโควิดให้พ้นจากโลก อยากให้ลืมสมการเรื่องนี้ไปได้เลย"ไม่มีทาง" เพราะเชื้อที่ระบาดไปทั่วโลกขนาดนี้ยังไงก็ต้องอยู่กับเราต่อไปแน่ๆ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยเป็น "ศูนย์" แต่เมื่อเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเข้ามาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่าจะต้องมีเชื้อโควิด-19 กลับเข้ามาใหม่ในไทยอีกแน่นอน

หากยอมรับความจริงประเด็นนี้ได้ก็ต้องมาพิจารณาต่อว่าจะใช้มาตรการอย่างไรในการควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด และกรณีถ้าต้องการไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นรักษาเป็นตัวเลข "ศูนย์" ไปตลอด มีวิธีเดียวคือต้องปิดประเทศไปตลอด ซึ่งเรื่องนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างสมดุลมากกว่าการใช้มาตรการเปิดประเทศอย่างไรให้มีความปลอดภัยมากที่สุด"

*เปิดประเทศต้องเน้นปลอดภัยมากที่สุด

นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศิริราช มองว่า แนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดรอบ 2 ให้มีความปลอดภัยมากที่สุด เบื้องต้นอาจต้องเปลี่ยนขั้นตอนตรวจผู้ติดเชื้อในรูปแบบอื่น เช่น กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต้องได้รับการตรวจทันทีตั้งแต่ต้นทางคือสนามบิน และต้องทราบผลการตรวจที่รวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย เช่น ชาวต่างชาติเดินทางเข้าในไทยสามารถตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ทันทีรู้ผลภายใน 3-4 ชั่วโมงจากเดิมที่ต้องกักตัวจำนวน 14 วัน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถทำได้แล้ว เพียงแต่ว่าอาจต้องนำห้องตรวจที่เป็นมาตรฐานนำไปตั้งอยู่ในสนามบิน กระบวนในลักษณะนี้จะช่วยให้เอื้อต่อการเปิดประเทศได้ปลอดภัยมากขึ้น

"การเดินทางเข้าในไทยนั้น การใช้เครื่องวัดอุณหภูมิคิดว่าไม่น่าจะช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อได้ เพราะโดยปกติแล้วผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แสดงอาการ หรือตรวจพบเจอผู้ที่เป็นไข้แล้วเป็นโควิด-19 ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย ขณะที่ผ่านมาก็มีบทเรียนคือการนำ "เทอร์โมสแกน" ไปใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิก็ไม่สามารถป้องกันผู้ติดเชื้อได้จริง เพราะคนเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นไข้"

*"หน้ากาก"ยังจำเป็นสำหรับคนไทย

ศ.นพ.มานพ แนะนำว่า หากคนไทยยังให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี โอกาสเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในไทยรอบใหม่คงเกิดขึ้นได้น้อย โดยปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดช่วยป้องกันการแพร่ระบาดนั้นคือ "หน้ากากอนามัย" เพราะสามารถช่วยปกป้องการกระจายของเชื้อจากผู้ป่วยทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ

"ที่ผ่านมารณรงค์ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ ซึ่งนับว่าได้ผลเป็นอย่างดี แต่อาจจะขัดกับพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น อยู่บ้านไปตลอดคงเป็นไปไม่ได้ ,อยู่ห่างกันตลอดก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าคงต้องกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคงต้องมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้น แนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดที่ดีคือต้องใช้มาตรการจำกัดวงไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง เป็นนโยบายที่ยั่งยืนไม่ควรขัดกับพฤติกรรมมนุษย์มากจนเกินไป โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่กับแนวทางปฏิบัติใหม่ได้เช่นกัน"

*ระบบสาธารณสุขไทยเพียงพอรับมือโควิด-19

ทั้งนี้ ยอมรับว่าประเทศไทยมีความแตกต่างกับต่างประเทศ เพราะกำหนดให้ผู้เดินทางเข้ามาต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว ผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงทุกรายเข้าพักโรงพยาบาล ขณะที่ต่างประเทศแม้ว่าจะติดเชื้อ แต่หากไม่มีอาการก็สามารถเข้ากักตัวในที่พักอาศัยของตัวเองได้

ข้อมูลการสำรวจเบื้องต้นประเทศไทยมีปริมาณเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ถึง 4,000-5,000 เตียง เมื่อรวมกับปริมาณเตียงโรงพยาบาลสนามคาดว่ามีจำนวนถึง 7,000-8,000 เตียง โดยมุมมองส่วนตัวคิดว่าน่าจะเพียงพอต่อการรองรับหากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นในอนาคต

"คิดว่าหากมีผู้ติดเชื้ออยู่ระดับหลักพัน และผู้ป่วยที่มีอาการหลักร้อย เชื่อว่าระบบโรงพยาบาลในไทยน่าจะยังเพียงพอต่อการรองรับได้อยู่ แต่เราก็ยังไม่อยากให้ไปถึงขั้นนั้น"

*โอกาส "คนไทย" ได้ใช้วัคซีนต้าน

ศ.นพ.มานพ กล่าวต่อถึงโอกาสที่คนไทยจะได้ใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ว่า ต้องยอมรับว่าหลังจากเกิดไวรัสโควิด-19 ก็มีการพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีจำนวนต้นแบบวัคซีนเป็นร้อยชนิด เชื่อว่าหากพัฒนาสำเร็จจะเห็นการกระจายของวัคซีนขยายไปทั่วโลกเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ เพราะการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดคงไม่ได้ใช้แค่เฉพาะประเทศเดียวเท่านั้น เนื่องจากทุกประเทศต้องเปิดรับชาวต่างชาติเดินทางเข้าและออก นั่นเป็นคำตอบได้ว่าคนไทยมีโอกาสได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างแน่นอน

"แม้ว่าวันนี้วัคซีนจะยังพัฒนาไม่สำเร็จ แต่มีกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศร่วมมือกันเริ่มมองแนวโน้มแล้วว่าวัคซีนใดมีโอกาสประสบผลสำเร็จ ก็จะเริ่มผลิตวัคซีนนั้นก่อนเลยเป็น 100-200 ล้านเข้าสู่สต็อกทันที ซึ่งในอดีตไม่มีบริษัทยาใดที่ทำเช่นนี้ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงก็ตาม แต่หากสุดท้ายแล้วเกิดวัคซีนนั้นได้ผลก็จะกระจายได้ทันที"

https://youtu.be/yO7UyFFWb7s


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ