COVID-19สธ.แถลงสร้างความมั่นใจรับมือได้หากระบาดรอบใหม่, ขอระยองทบทวนปิดสถานที่เกินจำเป็น

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2020 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงยืนยันความพร้อมรับมือด้านสาธารณสุขหากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ แม้ขณะนี้จะยังไม่พบว่ามีคนไทยติดเชื้อจากภายในประเทศด้วยกันเองต่อเนื่องมามากกว่า 50 วันแล้วก็ตาม โดยปัจจุบัน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนสถานพยาบาลทั่วประเทศ ต่างมีความรู้ความเข้าใจและมีความพร้อมเป็นอย่างมากต่อการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้มากกว่าในช่วงแรก (ม.ค.63) ที่เริ่มมีการระบาดจากจีนเข้ามาในประเทศไทย

"ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค.63 ที่เจอว่ามีคนติดเชื้อโควิดรายแรกในไทย เรายังไม่มีความรู้ในเรื่องโรคนี้ดีพอ ไทยเป็นประเทศอันดับ 2 รองจากจีนที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสูง แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยของเราลดลงอย่างมาก รักษาหายได้เยอะ และไม่มีผู้ป่วยโควิดอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เหลือแค่เพียงการให้ยา และดูแลอย่างต่อเนื่อง" นพ.สุขุมระบุ

สำหรับความพร้อมของประเทศไทยนั้น ยืนยันวามีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยโควิดมากถึง 1,000 ราย/วันทั่วประเทศ รวมทั้งมียาและเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง อาสาสมัครด้านสาธารณสุข (อสม.) ที่พร้อมจะให้การดูแลประชาชนอย่างเต็มที่

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ มีแต่กรณีการพบเชื้อจากผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเข้ากักตัวอยู่ใน State Quarantine ซึ่งสิ่งที่ประชาชนทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกันมาตลอดในการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การควบคุมโรคในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ในอนาคตหากมีการพบเชื้อภายในประเทศ ก็เชื่อว่าการตรวจสอบและควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด จะทำได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันมีทีมสอบสวนโรคทั่วประเทศมากถึงกว่า 2,000 ทีม และหากมีการระบาดเกิดขึ้น ก็จะเลือกปิดสถานที่แบบเฉพาะจุดหรือเฉพาะกิจการเท่านั้น โดยจะไม่ปิดพื้นที่เป็นวงกว้างแบบที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ยังคงต้องตั้งการ์ดสูงเช่นเดิม

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า จากการหารือล่าสุดร่วมกับผู้ว่าฯ ระยอง จะมีการพิจารณาให้กลับมาเปิดโรงเรียนได้ ในลักษณะของการทยอยเปิด และอยู่ภายใต้มาตรการที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่าง หลังจากผลตรวจของอีก 30 คนในกลุ่มทหารอียิปต์ไม่พบเชื้อโควิด

อย่างไรก็ดี กระทรวสาธารณสุขจะทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดระยอง ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้พิจารณาการเปิด-ปิด สถานที่หรือกิจการเป็นแบบเฉพาะจุดเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้ชีวิตปกติของประชาชนอย่างเกินความจำเป็น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะผ่านช่วงการระบาดที่เข้มข้นมาแล้ว แต่ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เองยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ดูแลพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนได้ถึง 80-90% ทั่วประเทศ และตามที่ อสม.ได้รับสิทธิในโครงการ "กำลังใจ" จากรัฐบาลนั้น ก็จะชักชวนให้ อสม.ช่วยกันไปท่องเที่ยวในจังหวัดระยอง เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวอื่นๆ ว่าสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนได้อย่างปลอดภัย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจกับการระบาดรอบสองที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศ จึงได้เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลที่ทั่วประเทศมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 20,000 เตียง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีมากถึง 2,400 เตียง ซึ่งยังไม่รวมกับ Hospitel ที่ขณะนี้พักการให้บริการไปแล้วเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องนานกว่า 50 วันแล้ว

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า มีการเตรียมพร้อมทั้งยา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งหน้ากากอนามัยแบบ Surgical Mask ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตในประเทศราว 3 ล้านชิ้น/วัน ซึ่งทางสาธารณสุขได้รับการจัดสรรประมาณ 1.74 ล้านชิ้น/วัน หน้ากาก N95 ที่มีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านชิ้น ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) อีกราว 1 ล้านชุด ยา Favipiravir มีใช้อยู่ทั้งสิ้นกว่า 6 แสนเม็ด ซึ่งรองรับผู้ป่วยได้เกือบ 10,000 เคส และยา Remdesivir อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาใช้รักษาได้ผลดีกับผู้ป่วย 33 เคสในข้อบ่งชี้ที่มีความรุนแรงของโรค

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีความพร้อมเรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยสามารถขยายเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไปทั่วประเทศได้กว่า 200 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน จากในช่วงแรกของการระบาดที่มีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ รพ.จุฬาลงกรณ์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะที่การออกตรวจตัวอย่างหาเชื้อทำไปแล้ว 652,000 ตัวอย่าง ตรวจเจอเชื้อคิดเป็น 0.4% หรือหมายถึงตรวจ 1,000 ตัวอย่าง เจอเชื้อ 4 ตัวอย่าง ซึ่งทำให้เห็นว่าศักยภาพในการหาเคสของไทยถือว่าดีกว่าหลายประเทศ อีกทั้งขณะนี้ไทยยังพัฒนาน้ำยาตรวจหาเชื้อได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาวิธีตรวจใหม่ๆ หาเชื้อแบบใหม่ เช่น การตรวจจากน้ำลาย เป็นต้น ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณลงได้มาก

"เรายังมีสต็อกอีกกว่า 6 แสนTest เรารับมือได้สบายมาก ไม่เหมือนกับประเทศอื่น เช่น สหรัฐ อังกฤษ ที่ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อนอกประเทศ แต่แลปของเราสามารถรู้ผลได้ภายใน 24 ชม. ขอให้เชื่อมั่น" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ประเทศไทยมีข่าวดีที่วันนี้การใช้สารสกัดจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยพบว่าอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยอาการไอสามารถลดลงได้ภายใน 3 วันแรก ตลอดจนอาการเจ็บคอ เสมหะที่ลดลง และเมื่อครบ 5 วัน อาการมีน้ำมูก และปวดศีรษะเริ่มดีขึ้น ส่วนอาการอื่นๆ ยังไม่ชัด ต้องรอผลตรวจจากกห้องปฏิบัติการอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ