สธ.ห่วงพื้นที่ชายแดนไทย หลังเมียนมาคุมโควิด-19 ไม่อยู่ กำชับเข้มแรงงานต่างด้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday September 16, 2020 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเมียนมามีความน่าเป็นห่วง จากเดิมที่ระบาดเฉพาะรัฐยะไข่ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกสุดของเมียนมาและมีชายแดนติดต่อกับประเทศอินเดียและบังกลาเทศ แต่ล่าสุด การระบาดได้แพร่กระจายไปยังเกือบทุกรัฐในเมียนมาแล้ว โดยเฉพาะรัฐย่างกุ้งพบผู้ติดเชื้อมากสุดที่ 1,666 คน เสียชีวิตแล้ว 1 คน ขณะที่รัฐมอญซึ่งติดกับชายแดนทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยก็พบผู้ติดเชื้อโควิดเช่นกัน

"หากในเมียนมาคุมสถานการณ์ไม่ได้ ก็เป็นไปได้ที่จะมีการระบาดเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทยเร็วๆ นี้" นพ.ธนรักษ์ระบุ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ต้องขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชน รวมทั้งหอพัก โรงงาน และสถานประกอบการต่างๆ ให้หยุดรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาภายในประเทศ พร้อมขอให้จังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทางเตรียมความพร้อม ซักซ้อมสถานการณ์ เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีโรคปอดอักเสบและโรคทางเดินหายใจ ขณะที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงต้องมีการตรวจสอบคุมเข้มแรงงานต่างด้าวที่จะลักลอบเข้าประเทศอย่างเข้มงวด

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสองยังไม่มีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าหรือเท่ากับการระบาดในรอบแรกเสมอไป แต่ประเด็นที่สำคัญขึ้นอยู่กับว่าเรามีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่ดี และมีการปฏิบัติตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัดหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน คือยังต้องคงมาตรการป้องกันโรคในระดับที่สูงไว้ต่อไป

"การระบาดรอบสอง จะรุนแรงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะควบคุมโรคได้อย่างไร หากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทำเต็มที่ การระบาดรอบสองก็ไม่ได้หมายความว่าจะรุนแรงเท่ากับรอบแรก หรือน้อยกว่ารอบแรกเสมอไป โรคจะระบาดหรือไม่ระบาด ขึ้นกับเรามีมาตรการป้องกันโรคที่ดีหรือไม่...สิ่งที่เราต้องช่วยกัน คือ คงมาตรการป้องกันโรคในระดับที่สูงอย่างนี้ไว้ต่อไป" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ

สำหรับกรณีการพบผู้ป่วยโควิดติดเชื้อซ้ำนั้น นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาแล้วก็มีโอกาสจะติดเชื้อซ้ำได้ ซึ่งล่าสุดในทั่วโลกยังเจอเคสนี้ไม่ถึง 10 ราย และแม้จะพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำมีอาการรุนแรงกว่ารอบแรก แต่ก็ยังไม่สามารถจะนำมาเป็นข้อสรุปได้ว่าจะเป็นลักษณะนี้กับผู้ป่วยทุกราย เพราะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำเพียง 2 รายที่มีอาการรุนแรงกว่ารอบแรก

"การที่คนไข้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำ ก็มีความเป็นไปได้ แต่โอกาสติดซ้ำมีต่ำมากๆ ทั่วโลกตอนนี้มีน้อยกว่า 10 รายที่ติดเชื้อซ้ำ และมีเพียง 2 รายที่อาการรุนแรง ดังนั้น ตอนนี้จึงยังสรุปไม่ได้ว่าการติดเชื้อรอบสองจะมีความรุนแรงกว่ารอบแรก โควิดเป็นโรคใหม่ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้คำตอบอีกหลายประเด็น" นพ.ธนรักษ์กล่าว

พร้อมระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้จึงถือว่ายังมีความเสี่ยง ดังนั้นขอให้ประชาชนยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด หากบุคคลและองค์กรมีการดูแลป้องกันตัวเองอย่างดี โอกาสที่โควิดจะกลับมาระบาดรอบสองก็จะมีต่ำมาก

"แต่หากเราละเลย ไม่ระมัดระวัง ก็มีโอกาสที่จะกลับมาระบาดรอบสองได้ ดังนั้น เราเลือกได้ว่าต้องการให้เป็นแบบไหน" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตการป้องกันโควิดในห้างสรรพสินค้าว่า กรมอนามัยได้จัดทำมาตรการเพื่อให้ห้างสรรพสินค้าใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย 14 ข้อดังนี้

1.ให้มีการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 2.ให้พนักงานและผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย 3.ให้เว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร 4.ทำความสะอาดพื้นผิว ความถี่อย่างน้อยทุก 2 ชม. โดยเน้นจุดสัมผัสร่วม 5.ลดความแออัด จัดโต๊ะ-เก้าอี้ และกำหนดจำนวนคนเข้าลิฟท์

6.มาตรการคัดกรอง การใช้ APPLICATION ติดตาม 7.ระบบระบายอากาศในอาคาร ต้องทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยทุก 6 เดือน 8.ศูนย์อาหาร/ร้านอาหาร ให้เน้นลดการสัมผัสร่วม เช่น จัดเครื่องปรุง จานช้อน แยกเป็นชุด ผู้ปรุง-ประกอบอาหารต้องดูแลความสะอาดของร่างกาย และสวมอุปกรณ์ป้องกัน 9.การดูแลพนักงาน ต้องตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน และจัดอบรมให้ความรู้ 10.การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19

11.จัดบริการชำระเงินในรูปแบบของ Touchless Payment เพื่อลดการพูดคุย และสัมผัสระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ 12.ติดตามคุณภาพน้ำใช้ในอาคาร โดยตรวจวัดคลอรีนอิสระคงเหลือ 0.2-0.5 มิลลิกรัม/ลิตร โดยตรวจทุกวัน 13. กำจัดขยะทุกวัน 14.การจัดการห้องน้ำ ต้องทำความสะอาดอย่างน้อยทุก 2 ชม. เน้นจุดสัมผัสร่วม เช่น ก๊อกน้ำ มือจับประตู ชักโครก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ