กอนช. ตั้งวอร์รูมเกาะติดเส้นทางพายุ"โนอึล" เฝ้าระวัง 24 จ.เหนือ-อีสานเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Thursday September 17, 2020 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กอนช. ตั้งวอร์รูมเกาะติดเส้นทางพายุ

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์พายุระดับ 3 (โซนร้อน) "โนอึล" ที่คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคอื่น ๆ ตามลำดับ ในวันที่ 18-20 ก.ย.63 นั้น ในเบื้องต้น กอนช.ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังจากแนวพายุเคลื่อนผ่านที่อาจจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักมากกว่า 150-250 มิลลิเมตร พบพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันใน 24 จังหวัด 94 อำเภอ 194 ตำบล แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภูอำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี และภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ แพร่ นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง และอุตรดิตถ์

ทั้งนี้ กอนช.ได้มีหนังสือด่วนถึง 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทั้ง 4 ภาคเป็นหน่วยงานกลางในการประสานแจ้งจังหวัดที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ เพื่อเตรียมการความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รับทราบล่วงหน้าด้วย

ขณะเดียวกัน กอนช.จะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ณ ห้องปฏิบัติการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติชั้น 4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการรายงานข้อมูลทุก ๆ 3 ชั่วโมงกรณีที่เกิดวิกฤติในพื้นที่ โดยเชื่อมต่อข้อมูลในจังหวัดที่ประสบเหตุอย่างทันท่วงที ซึ่งล่าสุดขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้าแล้ว อาทิ กรมชลประทาน เตรียมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ อาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งาน และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงพร่องน้ำจากเขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น เขื่อนมหาสารคาม จ.มหาสารคาม เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ และเขื่อนร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่การเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อด้านท้ายอ่างฯ

โดยวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.63) คณะทำงานด้านอำนวยการน้ำ ซึ่งมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช.จะเป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์แนวโน้มพายุอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวนมาตรการในการรับมืออย่างใกล้ชิดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ