กทม. อยู่ระหว่างจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ให้สอดคล้องระบบคมนาคมและขนส่ง

ข่าวทั่วไป Monday November 16, 2020 18:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับการเติบโตของเมืองหลังโครงสร้างระบบรถไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์ว่า สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองอยู่ระหว่างการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ให้สอดคล้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการเดินทาง โดยเฉพาะจากระบบขนส่งมวลชนทางราง

ส่วนพื้นที่รอบนอกได้กำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่สามารถพัฒนาเมืองได้ไม่หนาแน่น ขณะเดียวกันได้ใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครเป็นเครื่องมือชี้นำการพัฒนาเมืองและบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมกับศักยภาพการให้บริการของระบบคมนาคมและขนส่ง การสาธารณูปโภค และการสาธารณูปการในแต่ละบริเวณ ตลอดจนรองรับการพัฒนาของเมืองในอนาคตได้อย่างเพียงพอและมีมาตรฐาน

นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยจัดทำโครงการศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่รอบบริเวณสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ สถานีเตาปูน สถานีบางขุนพรหม สถานีประตูน้ำ สถานีลำสาลี และสถานีวงเวียนใหญ่ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนได้โดยสะดวก ลดปัญหาการจราจร ลดฝุ่นละออง และทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน

ด้านนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการโยธาได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณูปโภค อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการไปพร้อมกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งประสานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือให้ก่อสร้างถนน สะพาน ทางลอด ทางเท้า ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง รวมถึงระบบเชื่อมต่อการเดินทางไปพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีแผนการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงในชุมชน โดยนำกฎกระทรวง (ฉบับที่ 33) พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง (ฉบับที่ 50) พ.ศ.2540 ที่กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบต่อผู้ที่ใช้หรืออยู่อาศัยในอาคาร รวมถึงอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในบริเวณนั้นมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เช่น มาตรการป้องกันฝุ่นละออง มาตรการด้านระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำทิ้ง ตลอดจนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยต้องจัดให้มีบ่อหน่วงน้ำ (Retention Tank) สำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนก่อนระบายออกจากอาคาร เพื่อลดผลกระทบของประชาชนในพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ