กนอ.กำชับทุกนิคมฯ คุมเข้มมาตรการลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง แนะใช้เชื้อเพลิงสะอาด

ข่าวทั่วไป Friday December 18, 2020 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กนอ.ในฐานะกำกับดูแลการดำเนินงานของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ได้กำชับกองสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ของ กนอ.ประสานกับผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งให้ปฏิบัติตาม 4 มาตรการ เพื่อลดผลกระทบและปัญหาฝุ่นละอองที่ได้กำหนดใช้ไปก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกันได้จัดให้มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ตามวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามหลักวิชาการในนิคมฯที่ กนอ.กำกับดูแล พบว่าผลการตรวจวัด ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่นิคมฯทุกแห่ง มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กนอ.ได้มีการติดตามตรวจสอบและตรวจวัดคุณภาพอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯ โดยเฉพาะโรงงานที่มีปล่องควันจากการเผาไหม้ โดยให้โรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitoring Systems หรือ CEMs : CEMs คือเครื่องมือวัดวิเคราะห์ รวมถึงระบบเก็บข้อมูลเพื่อตรวจวัดอากาศจากปล่องระบายในรูปความเข้มข้นได้อย่างต่อเนื่อง) และส่งข้อมูลเข้าสู่ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Monitoring & Control Center :EMCC) และศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.โดยข้อมูลที่รายงานเป็นข้อมูลการตรวจวัดปัจจุบัน (Real time) สำหรับการจัดการโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ กระบวนการให้ความร้อน เช่น โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานรีดเหล็ก เป็นต้น

กนอ.ขอความร่วมมือให้หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น ซึ่งไม่มีสารกำมะถันเป็นองค์ประกอบ เพื่อลดปริมาณการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะเปลี่ยนไปเป็นอนุภาคฝุ่นละอองซัลเฟตที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน รวมทั้งได้ขอความร่วมมือให้โรงงานใช้ถ่านหินที่มีสารกำมะถันต่ำไม่เกินร้อยละ 0.5 ใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น ถ่านหินบิทูมินัส พร้อมติดตั้งระบบควบคุมการระบายฝุ่นละอองที่มีประสิทธิภาพสูง

สำหรับการตรวจวัดเพื่อหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) กนอ.ใช้เครื่องมือตรวจวัดเป็นไปตามมาตรฐานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้ใช้วิธีตรวจวัดมาตรฐานสากลตามหลักวิชาการ Federal Reference Method (FRM) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวัดของ US.EPA (2012) โดยหลักการทำงานของเครื่องฯจะดูดอากาศทางด้านบนของเครื่อง (Inlet) โดยใช้ปั๊มที่มีการควบคุมอัตราการไหลที่คงที่ฝุ่นละอองผ่านชุดคัดขนาด (Inertial Particle Size Separator, impactor) และตกลงบนกระดาษกรองชนิดเทฟลอน หรือ Polytetrafluoroethylene (PTFE) นำกระดาษกรองไปชั่งหาน้ำหนัก ซึ่งผลของน้ำหนักกระดาษกรองที่แตกต่างกันระหว่างก่อนและหลังการเก็บตัวอย่าง จะเป็นน้ำหนักของฝุ่นละอองในปริมาตรอากาศที่ถูกดูดและนำไปคำนวณหาความเข้มข้นของฝุ่นละอองในหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อไป

"นอกจากการกำกับดูแลในเรื่องของกระบวนการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองรวมและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนแล้ว กนอ.ยังให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพทั้งของชุมชนรอบนิคมฯ และบุคคลที่ทำงานในนิคมฯทุกคน"ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ