ศบค.เตรียมเสนอ 8 มาตรการคุมพื้นที่สีแดง,ให้อำนาจผู้ว่าจว.ปิด-ควบคุมพื้นที่เสี่ยง

ข่าวทั่วไป Sunday January 3, 2021 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ศบค.เตรียมเสนอมาตรการฯ ฉบับที่ 6 ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ลงนามในประกาศ ทั้งนี้ มาตรการต่างๆที่จะออกมาดูจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น และข้อมูลที่มีซึ่งแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันไป

โดยมีแนวทางปฏิบัติ 8 ข้อดังนี้

1.ห้ามใช้อาคาร หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามใช้อาคารของโรงเรียน สถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง 28 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและจังหวัดใกล้เคียง

2.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เช่น การประชุมสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่างๆ เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการของพนักงานและเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่แต่ต้องมีมาตรการสาธารณสุขรองรับด้วย โดยได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยคำแนะนำคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบ

3.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณา สั่งปิดสถานบริการสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

4.เงื่อนไขการเปิดดำเนินการเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุด ให้สถานที่กิจการหรือการทำกิจกรรมดังต่อไปนี้เปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลาและการจัดระบบและระเบียบต่างๆ ที่กำหนด

(1) การจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนด โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกันพิจารณาประเมินกำหนดรูปแบบ และกำกับการดำเนินการตามข้อปฏิบัติและมาตรการดังกล่าวของแต่ละพื้นที่จังหวัดให้มีความเหมาะสม

โดยข้อนี้จะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน

(2) การจำหน่ายสุราสำหรับร้านอาหาร สถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

5.ห้างสรรพสินค้า ก็ยังให้เปิดทำการได้ตามเวลาปกติ โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ มอบให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งเปิดปิดในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดได้

6.ให้มีการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น โดยขอความร่วมมือ ไม่ได้สั่งห้ามการเดินทาง แต่อาจจะมีหลายด่านเพื่อคัดกรองที่ทำให้ไม่สะดวก

7.ให้ทำงานที่บ้าน สลับวันเวลาการทำงาน

8.ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายข้อบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งโรค เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่ออนุญาตให้ผ่อนคลาย หรือบังคับกิจกรรม กิจการตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ที่เห็นสมควร

ทั้งนี้ การประกาศอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากนี้ ขึ้นอยู่กับอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. และเมื่อมีประกาศจากศบค.ก็จะมีการประกาศบังคับแต่ละพื้นที่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ต้องการล็อกดาวน์เพราะไม่ต้องการเกิดความสูญเสียเช่นเดียวกับรอบที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องใช้วิธีประนีประนอมให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ และเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น ศบค.จึงไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ เพราะจะมีผลกระทบต่อปัญหาทางเศรษฐกิจ กระทบต่อการหารายได้ทุกคน และภาครัฐก็ต้องมีการเยียวยาซึ่งเป็นภาระต่อภาษีเงินได้ของทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้เราเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งโลกและไทยด้วย เพราะฉะนั้น การใช้มาตรการต่างๆเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายต้องเสีย

ฉะนั้น ตอนนี้ถ้าสามารถกระจายความรับผิดชอบร่วมมือกันได้ ทุกคนก็อยากทำมาหากินอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันที่เคยทำมา แต่ต้องเป็นรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ทั้งนี้การติดโรคก็ยังขึ้นกับปัจจัยมากมาย ใช่ว่างดการเดินทางโดยเครื่องบิน การงดการจำหน่ายอาหารจะลดการติดเชื้อได้ แต่หากจังหวัดนั้นๆมีระบบการป้องกันโรคได้ดี เช่น นครปฐม ที่มีการสอบสวนโรค และสามารถลดการติดต่อโรคได้

"การใช้ยาแรงอย่างเดียวกันจัดการทั้งประเทศไม่ได้แล้ว ซึ่งเราก็ได้บทเรียนมาจากครั้งที่แล้ว คนที่เจ็บปวดคือประชาชนคนปกติที่ต้องถูกจำกัดบริเวณจำกัดเวลา จำกัดพื้นที่ แต่คนที่ทำผิดกฎหมายก็ยังทำอยู่อย่างนั้น ยังไปเล่นพนัน อยู่ในสถานที่มั่วสุม ยังดื่มสุรา เราจะไม่ให้คนธรรมดาสามัญ สุจริตชนทั้งหลายต้องเดือดร้อนกัน"โฆษก ศบค. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ