(เพิ่มเติม1) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 198 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ข่าวทั่วไป Saturday January 23, 2021 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม1) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 198 ราย เสียชีวิต 1 ราย

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 69 ราย จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 111 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด 18 ราย ขณะที่วันนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 13,302 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,450 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 4,495 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,357 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 10,448 ราย เพิ่มขึ้น 224 ราย ขณะที่มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 72 ราย

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า รายละเอียดของผู้เสียชีวิตในวันนี้ เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 81 ปี มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีภูมิลำเนาอยู่ที่จ.พิจิตร และมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวที่เดินทางมาจากจ.สมุทรสาคร โดยวันที่ 31 ธ.ค.63 ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการหน้ามืด และในวันที่ 2 ม.ค.64 มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ และถ่ายเหลว โดยได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากได้ประวัติจากญาติว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาในวันที่ 3 ม.ค. ผลยืนยันว่าติดเชื้อ จึงได้ทำการเข้าห้องแยกโรค ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น

ในวันที่ 4 ม.ค. ผลเอ็กซเรย์ปอด พบว่าปอดอักเสบรุนแรง มีอาการเหนื่อยมากขัน และได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาในวันที่ 9 ม.ค.มีอาการดีขึ้น และสามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ แต่ยังคงต้องใช้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง จนกระทั่งในวันที่ 15 ม.ค. ผู้ป่วยกลับมามีอาการไข้ ไอ และเหนื่อยมากอีกครั้ง จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ แต่อาการแย่ลงไม่ตอบสนองต่อการรักษา และเสียชีวิตในวันที่ 22 ม.ค. เวลา 22.30 น.

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 198 ราย ประกอบด้วย 1. การติดเชื้อในประเทศ 180 ราย แบ่งเป็น ในส่วนที่มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 69 ราย ซึ่งทั้งหมดมีประวัติไปสถานที่เสี่ยงอื่น มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ โดยส่วนใหญ่อยู่ในจ.สมุทรสาคร จำนวน 56 ราย รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานคร 5 ราย อ่างทอง 1 ราย สมุทรสงคราม 5 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ระยอง 1 ราย และในส่วนที่มาจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน จำนวน 111 ราย มาจาก จ.สมุทรสาคร 107 ราย โดยในส่วนนี้เป็นสัญชาติไทย 2 ราย และแรงงานข้ามชาติ 105 ราย และมาจากกรุงเทพมหานคร 4 ราย ซึ่งเป็นสัญชาติเมียนมาทั้งหมด

2. ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย เดินทางมาจากสวีเดน 1 ราย ,อินเดีย 1 ราย,อิตาลี 1 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย ,อียิปต์ 1 ราย ,รัสเซีย 1 ราย , สหรัฐอเมริกา 1 ราย ,บาห์เรน 4 ราย ,สหราชอาณาจักร 5 ราย และสวิสเซอร์แลนด์ 1 ราย

สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 98,742,691 ราย เสียชีวิต 2,116,319 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 25,390,042 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,640,544 ราย อันดับสาม บราซิล 8,755,133 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 3,677,352 ราย อันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,583,907 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 128 โดยพบผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 63 จังหวัด

พญ.พรรณประภา กล่าวอีกว่า จากกรณีที่ผู้ประกาศข่าวชายของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ขณะนี้ผลตรวจของกลุ่มเสี่ยงสัมผัสกับผู้ประกาศข่าวดังกล่าว ในส่วนของพิธีกรประจำการแถลงข่าวของศบค. ทั้งนางสาวปวีณา ฟักทอง และนายสุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี ผลออกมาเป็นลบ แต่ก็จะยังคงกักตัวอยู่ ขณะที่ผลตรวจของนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ออกเป็นลบเช่นกัน ซึ่งก็จะหลีกเลี่ยงไม่ไปในที่ชมุชน และสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา รวมถึงจะกลับมาปฏิบัติงานต่อในเร็ววันนี้

ด้านนพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอยู่ในระดับคงตัว (ผู้ป่วยในระบบบริการ) แม้จะมีการยกตัวขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 3 วันล่าสุด แต่แนวโน้มเชื่อว่าตัวเลขนี้อยู่ในขอบเขตที่ไม่ได้เปลี่ยนทิศทางหรือแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เพราะมีภาพของจำนวนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าน่าจะมีการพิจารณาเพื่อปรับให้มีมาตรการผ่อนคลายที่เหมาะสมออกมา โดยรอบสัปดาห์นี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ติดกับจ.สมุทรสาคร ก็มีปรากฎให้เห็นในหลายจังหวัด สะท้อนให้เห็นว่ายังมีการเดินทางไป-กลับจ.สมุทรสาคร ซึ่งหากมีมาตรการที่เข้มข้นขั้นก็น่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ ก็จะเป็นมาตรการในระดับบุคคลที่หากสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ

ขณะเดียวกันยังพบการติดเชื้อในกลุ่มครอบครัว เพื่อนร่วมงาน/ร่วมกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมเสี่ยงที่มีผลมาก คือการรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะเวลารับประทานอาหารมีการเปิดหน้ากากอนามัย 100% และหากในระหว่างรับประทานอาหารมีการพูดคุยด้วย ก็มีโอกาสที่จะฟุ้งกระจายของเชื้อได้ โดยข้อแนะนำมาตรการตรงนี้ เป็นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลในครอบครัว และผู้ร่วมกิจกรรมใกล้ชิดกัน ควรเว้นระยะห่างขณะทานอาหาร นั่งรถด้วยกัน ควรสวมหน้ากากทุกคน ตลอดจนจำกัดจำนวนผู้ร่วมงานเลี้ยงตามขนาดพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้ควรมีการยกระดับการควบคุมกำกับสถานประกอบการ เน้นมาตรการองค์กร โดยเฉพาะผู้ทำงานข้ามจังหวัด การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ครบ 14 วัน และการเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จ.สมุทรสาคร และจังหวัดโดยรอบ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องเดินทางออกไปทำงานนอกบ้าน หรือยังออกนอกบ้านไปทำธุระส่วนตัว ควรยึดหลัก D-M-H-T-T ได้แก่ D:Social Distancing เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด M:Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา H:Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ T:Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด-19 (เฉพาะกรณี) T:Thai Cha Na สแกนไทยชนะก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง เพื่อให้มีข้อมูลในการประสานงานได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ หากกลับถึงบ้านแล้วต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมบ้านกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะถ้ากลุ่มดังกล่าวได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ